คลังรอตีความรับโอนคืนท่อก๊าซ ออกโรงป้องลูกน้องทำหน้าที่ครบถ้วนตามคำสั่งศาลฯ

16 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
รมว.อภิศักดิ์ ชี้ 3 เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ทำตามหน้าที่คดีท่อก๊าซ ปตท. ไม่หวั่นแม้ คตง. ฟันธงความผิดฐาน ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เหตุเปิดช่องให้โอนทรัพย์สินหากกลับเข้ารัฐหากถูกตีความเพิ่มในอนาคต ยืนยันยังไม่ตั้งทีมทำงานขอให้ทำตามขั้นตอนตามปกติ

[caption id="attachment_53585" align="aligncenter" width="428"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติให้ดำเนินการโอนคืนท่อก๊าซให้กลับมาเป็นของรัฐให้ครบถ้วน โดยมีข้าราชการกระทรวงการคลังจำนวน 3 รายเกี่ยวข้องด้วยนั้น ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังได้ทำไปตามหน้าที่ในขณะนั้นครบถ้วนตามคำสั่งศาล เช่นเดียวกับทางคณะรัฐมนตรีก็ทำไปตามหน้าที่ เรียกว่าต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง

ทั้งนี้จากการที่ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ก็ให้ข้อมูลว่า ได้มีการรับโอนมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่ในสัญญาที่รับโอนยังได้เขียนกำกับเพิ่มเติมว่า หากภายหลังทราบว่ามีทรัพย์สินหรืออื่นใดที่ยังขาดไป ก็ยังสามารถที่จะโอนเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นตัวเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเองก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เพราะ ณ ตอนนั้นทรัพย์สินที่โอนล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่จำเป็นต้องโอนแล้วทั้งสิ้น ขณะเดียวกันทรัพย์สินอื่นๆ ที่ยังค้างหรือที่ยังไม่ได้รับโอน ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่ยังรอการตีความ และหากจากนี้ต่อไปมีการตีความว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐแล้ว จำเป็นต้องโอนก็คงต้องโอนกลับมาให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นปกติ

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลัง กล่าวว่าพร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามที่ คตง. มีมติให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการเกี่ยวกับการแยกและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของ ปตท. ที่ขาดไปเป็นเงินกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท เพื่อคืนให้แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งในสัญญาการรับโอนเดิมตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้ที่โอนให้แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ได้มีการเขียนแนบท้ายสัญญาว่า หากพบว่ามีทรัพย์สินที่ยังโอนไม่ครบต้องส่งคืนให้กระทรวงการคลัง จึงไม่มีปัญหาหากมีการพิจารณาตีความเรื่องทรัพย์สินที่ต้องโอนให้เพิ่มเติม ซึ่งยังมีประเด็นเรื่องของแนวท่อก๊าซในทะเล

ส่วนการดำเนินการทางคดีกับข้าราชการกรมธนารักษ์ 3 คน ที่มีรายชื่อเกี่ยวข้องในความผิดที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของคณะรัฐมนตรี ที่รวบรวมข้อมูลส่งฟ้องศาลนั้น จะพิจารณาความผิดตามขั้นตอนของกฎหมาย และมองว่าโดยปกติทั่วไปการทำหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงการคลัง จะปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริง เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว
"เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันหลายรอบ ทั้งจาก ปปง. สตง. ศาลปกครองสูงสุด เพราะเรื่องนี้มีการนำไปขึ้นศาล ซึ่งมีความเห็นของศาลได้มีความเห็นส่วนหนึ่งว่าได้ทำการโอนทรัพย์สินให้คลังไปครบถ้วนแล้ว ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน ถ้าบอกว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐก็จะต้องโอนกลับคืนมา แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่าก็ต้องกลับไปเคลียร์กันก่อน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวและว่า

คงต้องใช้คนที่มาตัดสินว่าทรัพย์นี้เป็นทรัพย์ของใคร ถ้าเป็นทรัพย์ของรัฐก็ต้องโอนมาหรือถ้าจะใช้สิทธิหรืออำนาจของรัฐ เพราะท่อก๊าซรุ่นแรกที่โอนกลับมา ระบุว่า ปตท. ณ ช่วงนั้นใช้อำนาจของความเป็นรัฐและยังมีการตีความอีกว่า ในส่วนของท่อก๊าซที่วางอยู่ในทะเล เป็นสิทธิซึ่งทาง ปตท. ก็ลงเอง เนื่องจากว่าท่อที่วางในทะเลนั้นจำเป็นต้องถูกตีความว่าเป็นของ ปตท. หรือเป็นของรัฐกันแน่ และหากจะเวนคืนนั้นจะทำกันอย่างไร จะใช้สิทธิกันตรงไหนตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องตีความกันใช้ชัดเจนถ้าสรุปแล้วสิ่งไหนที่เป็นของรัฐก็โอนกลับมามันก็จบ

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ คงต้องกลับไปดูอีกครั้งว่าที่ได้ทำไปนั้นถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า ซึ่งกระบวนการตรวจสอบคงต้องเดินไปตามขั้นตอน ซึ่งมีทีมที่ทำงานเรื้องนี้อยู่แล้ว แม้ทาง คตง.จะกำหนดกรอบไว้ที่ 60 วัน ซึ่งจุดนี้หากเป็นเรื่องที่ชัดเจนและชี้ถึงความบกพร่องได้ง่ายแล้วทุกอย่างก็ทำไดเร็ว แต่ถ้ายังชี้ไม่ได้หรือไม่ชัดเจน กระบวนการก็คงไปจบที่ศาลเพื่อให้ตีความอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ผู้โอน ก็คือ ปตท. เองก็ยินยันว่าได้ทำการโอนกลับมาให้คลังทั้งหมดแล้ว แต่ในส่วนของภาครัฐเองมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ ก็ดำเนินการรับโอนกลับมา ก็จบแค่นั้น แต่ถ้า ปตท.มองว่าไม่เห็นด้วยก็ไปฟ้องร้องกันที่ศาล

ส่วนกรณีที่มีชื่อของข้าราชการกระทรวงการคลัง นั้น ส่วนตัวมองว่า ทั้งหมดได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากได้เปิดช่องว่า ทรัพย์สินใดๆ หากถูกตีความว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐก็ยังสามารถโอนกลับเข้ามาเพิ่มได้อีก ทั้งนี้คงต้องดำเนินตามขั้นตอนโดยเริ่มจากการสอบข้อเท็จจริงและหากจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ก็สามารถทำได้ ส่วนจะมองว่าการโอนทรัพย์สินกลับมาครั้งนี้ใครที่จะมีส่วนได้ส่วนเสีย มุมหนึ่งหากมองว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลุ่มที่กระทบคือ บริษัท ปตท.ฯ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็แค่นั้นเอง

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559