จับตาต่างชาติทิ้งหุ้น‘บิ๊กแคป’ เอฟเฟกต์ดัชนี‘เอ็มเอสซีไอ’เพิ่มน้ำหนักหุ้น‘จีน’

18 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
ผู้เชี่ยวชาญด้านฟันด์โฟลว์-นักวิเคราะห์ แนะจับตาเงินไหลออกจากหุ้นบิ๊กแคปของไทยอย่างน้อย 2.4 หมื่นล้านบาท หลังเอ็มเอสซีไอ เพิ่มน้ำหนักคำนวนหุ้นจีนที่จดทะบียนในตลาดสหรัฐฯ บล.ทรีนิตี ให้กรอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯครึ่งปีหลังเหวี่ยงแรง 1,200-1,530 จุด บลจ.ทหารไทย เผยเงินนอกยังไหลเข้าตลาดพันธบัตร ให้กรอบดัชนีเดือนพฤษภาคม 1,340-1,350 จุด

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนีตี้ จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) เปิดเผยว่า ให้จับตากระแสฟันด์โฟลว์ จากกรณีการปรับตะกร้าการลงทุนของดัชนี MSCI Emerging Maket หรือดัชนีเอ็มเอสซีไอ ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ได้เพิ่ม China ADRs นำหุ้นของบริษัทในประเทศจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เข้ามาคำนวณ

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้น้ำหนักหุ้นจีนในดัชนีเอ็มเอสซีไอ ตลาดเกิดใหม่เพิ่มจาก 2.68% เป็น 5.22% ส่งผลให้น้ำหนักตลาดหุ้นไทยลดลงเหลือ 2.19% จาก 2.25% จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นขนาดใหญ่ของไทยประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อออกไปลงทุนในกลุ่มหุ้น China ADRs

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังดร.วิศิษฐ์ คาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 1,200-1,530 จุด และไม่น่าจะเห็นการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)ลงอีก ขณะที่คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้บล.ทรีนิตี้ ให้กรอบราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 35-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล ขณะที่คาดว่าเงินบาทหยุดอ่อนค่า และมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าปี 2559 ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนประมาณ 12.38% ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

สอดคล้องกับนายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เคที ซีมิโก้ กล่าวว่าปัจจัยเอ็มเอสซีไอ พิจารณาปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนที่ซื้อขายในต่างประเทศในInvestable Market Index ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาต่างชาติยังขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แนะนำให้ติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนเป็นอย่างมาก

ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. บัวหลวง มองว่าการปรับฐานของหุ้นไทยในช่วงนี้มาจากการผิดหวังกับผลประกอบการไตรมาสแรก ขณะที่ในไตรมาสสอง ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับตัวลดลงอีก เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นดีนัก รวมถึงมีปัญหาภัยแล้งและโลว์ซีซั่นของผลประกอบการ ทำให้เป็นปัจจัยหลักกดดันกำไร บจ.ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินการปรับฐานของดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้ หากหลุด 1,380 จุด จะมีโอกาสปรับตัวลงไปหาแนวรับสำคัญบริเวณ 1,320-1,330 จุด ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะเข้าซื้อลงทุนอีกครั้ง

สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แนะให้จับตาราคาน้ำมันจะฟื้นตัวผลักดันดัชนีหุ้นไทยอีกครั้งได้หรือไม่ รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการเมกกะโปรเจ็กของภาครัฐว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด เพราะหากทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นบวก จะส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในหุ้นไทยกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง โดยบล.บัวหลวง ยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX )ปีนี้ไว้ที่ 1,440 จุด

นายไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทหารไทย จำกัด (THBAM) กล่าวว่าแนวโน้มของนักลงทุนต่างประเทศนั้น เวลานี้เงินไม่ได้ไหลเข้าในตลาดหุ้นเกิดใหม่
ในส่วนของตลาดพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ยังมีไหลเข้าอยู่บ้าง ดังนั้น ภาพรวมของค่าเงินบาทจึงไม่ได้อ่อนค่า เพราะเงินไม่ได้ไหลออกอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนักลงทุนต่างชาติยังเข้าซื้อพันธบัตรของไทยอยู่ แต่จะไม่ได้เข้ามาที่ตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นหุ้นจึงไม่ได้ประโยชน์ ขณะที่นักลงทุนไทยเองก็อยู่ในลักษณะที่นิ่ง

"สถานการณ์ค่าเงินดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ค่าเงินบาทที่แข็งอยู่ในระดับประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่ามาที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนมาก โดยมีบางประเทศที่อ่อนค่ากว่า"นายไพศาล กล่าวและว่า

สำหรับตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม คาดว่าดัชนีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1,340-1,350 จุด ยกเว้นว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างราคาน้ำมันน่าจะหมดไป แต่อาจจะมีความเสี่ยงจากจีนที่หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลเรื่องหนี้เสียที่จะแสดงออกมา หรือหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงถ้อยแถลงของธนาคารกลางสำคัญๆ

ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด)ส่งสัญญาณมาว่าจากเดิมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสร้างความตกใจให้กับตลาด ตลาดก็อาจจะเกิดความวิตกได้ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นน้อยมาก เพราะปัจจุบันเฟดพยายามรักษาความเสถียร เนื่องจากเกรงกลัวการที่จะทำให้ตลาดผันผวน เนื่องจากตลาดที่ผันผวนจะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเช่นเดียวกัน เพราะความมั่งคั่ง (Wealth) ส่วนใหญ่ของประชาชนสหรัฐฯเกินกว่า 50% อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯนอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ตลาดมีความกังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแล้วอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงด้วย เพราะนโยบายอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559