รมว.แรงงานเน้น “ประชารัฐ” เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

10 พ.ค. 2559 | 06:40 น.
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ซึ่ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของคนทำงานในทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ โดยจัดให้มีโครงการ “90 วัน ยุทธการลดอันตราย” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงอันตราย ความสูญเสียและผลกระทบอันเนื่องจากการประสบอันตรายจากการทำงาน และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นกับทุกคนในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนโดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน และการที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาตินั้น ก็เพื่อให้เป็นโอกาสหนึ่งของทุกปีที่ทุกคนจะได้ร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีต ย้อนรอยและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่การป้องกันอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุผลภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ถือว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ยังผลให้มีลูกจ้างเสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บกว่า 400 คน ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจในการดำเนินมาตรการเชิงป้องกัน รวมถึงพัฒนาบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ และรณรงค์สร้างจิตสำนึกของทุกฝ่ายเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมภายในชาติต่อไป ซึ่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ได้จัดให้มีกิจกรรม ณ สำนักความปลอดภัยแรงงาน อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพฯ โดยมีการร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตจากการทำงาน มีการเสวนาด้านความปลอดภัย ตลอดทั้งวันด้วย ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน จากการดำเนินการภายใต้กลไก “ประชารัฐ” ทำให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2557(ตค. 56 – ม.ค. 57) อัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีเสียชีวิตมีอัตรา 2.2556 ต่อ 1 แสนคน ในปี 2559 (ต.ค.58 –ม.ค.59) ลดลงเหลือเพียง1.9065 และกรณีร้ายแรงในปี 57มีอัตรา 1.2594 ต่อ 1 พันคน ลดลงเหลือ 0.9715 ในปี 59 ซึ่งหากสามารถลดการประสบอันตรายได้อย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อคนทำงาน ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย