‘ธีธัช’ผู้ว่าการยางฯคนแรก ปั้นยุทธศาสตร์ 5 ปีดันยางทั้งระบบ

09 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นต้นมานั้น ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา ต่างตั้งความหวังจะช่วยยกระดับการพัฒนายางพาราของประเทศทั้งระบบให้ดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเกษตรกรคาดหวังสูงจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หลังจากที่มี พ.ร.บ. นี้ ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับของเกษตรกร ที่ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานหลัก คือ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ภายใต้การนำของ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่า กยท. คนแรก (ก่อนหน้านั้นมีผู้ว่าฯ รักษาการและปฏิบัติหน้าที่แทน) ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธีธัช ถึงแผนงานในการขับเคลื่อนนโยบาย ตลอดจนทิศทางอนาคตของยางพาราไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน

 ปั้นยุทธศาสตร์5ปีบันได 4 ขั้น

"ดร.ธีธัช" กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 รวมระยะเวลาถึง ณ เวลานี้ประมาณ 1 เดือนเศษ ทาง กยท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2559-2563) ตามแผนปฏิบัติการบันใด4ขั้นในขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และวิสัยทัศน์ในการบริหาร กยท. โดยบันใดขั้นแรกจะต้องสร้างบ้านให้แข็งแรง สอดรับกับตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ต้องเน้นในการบูรณาองค์กร เพราะ ณ วันนี้ถ้าองค์กรไม่เข้มแข็ง การจะไปออกทำอะไรมักจะติดขัด ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการในการปรับโครงสร้างใหม่โดยรวม 3 องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราของประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยยาง (สวย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ที่จะต้องมีการบรรจุบุคลากรลงตำแหน่งให้เหมาะสมกับภารกิจหลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ส่วนแผนปฏิบัติบันไดขั้นที่ 2 เป็นปีที่เริ่มมองเห็นความเติบโต เพราะวันนี้ภารกิจของ กยท. คือการบริหารยางพาราครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การรับผิดชอบส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรอย่างไร สถาบันเกษตรกรอย่างไร และผู้ปลูกยางอย่างไร ที่สำคัญต้องมองหาตลาดใหม่ๆ แม้จะไม่ใช่ภารกิจหลัก ที่มุ่งเน้นในเรื่องการค้ากำไรมาก แต่อย่างน้อยสุดก็ต้องสามารถจัดหารายได้เพื่อดูแลองค์กรขนาด 3.99 พันคนให้ได้ และรายได้ส่วนหนึ่งคืนให้กับกระทรวงการคลังได้

สำหรับบันใดขั้นที่ 3 คือการต่อยอด แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะวันนี้ ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางพัฒนาองค์ความรู้นั้นไปในเชิงการตลาดและเชิงพาณิชย์มากขึ้น คงไม่ใช่การวิจัยในเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวิจัยเพื่อการต่อยอด เพื่อพัฒนายางพารา ไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรที่ต้องมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น และบันใดขั้นที่ 4 คือความยั่งยืน โดย กยท. เป็นองค์กรกลางในการที่จะทั้งช่วยเหลือเกษตรกร และสถาบัน ผู้ประกอบการ ทำอย่างไรที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และพนักงานเองก็ต้องทำงานอยู่ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้นจะเป็นแนวทางในการที่จะพัฒนาองค์กรในช่วงเวลานั้น แต่ละกิจกรรมก็ทำไป นั่นคือเรื่องของนโยบายที่จะขับเคลื่อนนับจากนี้เป็นต้นไป

 จ่ายชดเชยแล้วเกือบ 100%

ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียน (ณ 28 เม.ย.59 ) รวมทั้งหมด 1.32 ล้านราย แบ่งเป็น 1. เจ้าของสวน จำนวน 9.81 แสนราย 2. ผู้เช่า จำนวน 1.19 พันราย 3.ผู้ทำสวนยาง จำนวนกว่า 4 หมื่นราย ส่วนผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/หรือมีเอกสารสิทธิ์ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียน ทาง กยท.ก็ได้มีการประกาศให้กลุ่มนี้มาลงทะเบียนไว้เช่นเดียวกัน เพื่อหาแนวทางอื่นๆ ในการช่วยเหลือต่อไป ส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องได้มีโครงการ "สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง" 1.5 พันบาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน 1 ครัวเรือน 1 สิทธิ์ โดยแบ่งเป็นเจ้าของสวน 900 บาท และคนกรีดยาง 600 บาท ณ วันนี้ได้ดำเนินการจ่ายเงินเรียกว่าเกือบจะ 100% แล้ว

 ชะลอรับซื้อยาง 1 แสนตัน

"ส่วนเรื่องการรับซื้อยางในโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1 แสนตัน ในปีงบประมาณ 2559-2560 ได้ชะลอการซื้อไว้ก่อน เนื่องจากราคายางในตลาดสูงกว่าราคาที่รัฐบาลจะช่วยพยุงราคาที่กำหนดไว้ ยางแผ่นดิบ กิโลกรัมละ 45-60 บาท ( ราคายาง ณ วันที่ 4 พ.ค.59 ตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบ 60.59 บาท/กก) อย่างไรก็ดีหากแนวโน้มราคายางปรับตัวลงมา ทาง กยท.จะมีเงินสำรองไว้ในการสร้างสมดุลของราคาได้ ไม่ใช่แทรกแซง จะได้แก้ปัญหาทันท่วงทีโดยไม่ต้องรองบประมาณ"

 พึ่งตัวเองคู่หาตลาดใหม่ๆ

ดร.ธีธัช กล่าวว่า จากนี้ไปเกษตรกรต้องช่วยตัวเองให้มากขึ้น จะต้องมาวางรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมือนในอดีต จะต้องให้เกษตรกรปลูกพืชแซมหรือเสริมรายได้ อาทิ เลี้ยงสัตว์ ทำประมง เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ ในรูปแบบอื่นๆ ถือเป็นหน้าที่ของ กยท. ในการเพิ่มองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่ให้เกษตรกรขายในรูปวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ส่วนในระยะยาว ก็ต้องมองหาตลาดใหม่ เข้ามาทดแทน ที่สำคัญเกษตรกรต้องเข้าใจว่า ยาง เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดโลกเป็นผู้ซื้อและกำหนดราคา ไทยมีฐานะเป็นผู้ผลิต ดังนั้นเราเองต้องมีการนำยางใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้นจะทำให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่พึ่งพิงตลาดส่งออกอย่างเดียว

 บทบาทไม่ใช่วันแมนโชว์

ผู้ว่ากยท. กล่าวอีกว่า กยท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีบทบาทและหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่คงไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะร่วมกันผลักดันให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพราะราคายางที่ขึ้นหรือลง มีปัจจัยภายนอก อาทิ สภาพเศรษฐกิจของโลก ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบทั้งสิ้น อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ถ้ามีปัจจัยใดที่ กยท.จะไปส่งเสริมหรือสนับสนุนได้ ก็พร้อมทำเต็มที่ แต่ถ้าราคายางลดลงจากปัจจัยภายนอกก็คงไม่สามารถทำให้ราคาขึ้นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องมีความเข้าใจกัน ซึ่งคงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ เพียงคนเดียว แต่เราต้องทำงานเป็นทีมเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ

"ผมเคยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาด ของกระทรวงมหาดไทย มีลักษณะงานที่ใกล้เคียงกันคือเป็นผู้ประสานงานด้านนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติ โดยรับสารโดยตรงจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ที่ส่งตัวแทนเข้ามานั่งเป็นกรรมการของ กยท. ทั้งนี้โดยฟังก์ชัน ของ กยท. จะต้องดูแลบริหารสินค้ายางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ แต่ก่อนที่ไปจะสนับสนุนและส่งเสริมใคร เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน โดยจะต้องนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ตอนนี้ขอเวลาให้ปัดกวาดบ้านตัวเองก่อนเพราะเราเป็นองค์กรใหม่"

 ราคายางครึ่งหลังทิศทางดี

"ดร.ธีธัช" ได้วิเคราะห์ แนวโน้มราคายางพาราในครึ่งปีหลังว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยราคายางแผ่นดิบไม่น่าจะต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม เพราะวันนี้ไทยเองมีความต้องการสูง ทั้งในส่วนการซื้อยาง 1 แสนตัน ป้อนบริษัทชิโนเคมจากจีน ซึ่งงวดแรกจะส่ง 1.66 หมื่นตัน ไม่น่ามีปัญหา อยู่ระหว่างทยอยส่งมอบ คาดจะแล้วเสร็จตามสัญญาที่รับปากไว้ รวมทั้งเงินสำรอง ที่จะใช้ซื้อยางในโครงการรัฐ จำนวน 1 แสนตัน ทั้งในรูปแบบเงินกู้ จำนวน 4.5 พันล้านบาท และเงินทุนประเดิม กยท. 500 ล้านบาท ยังมีอยู่ ยังไม่นับรวมความต้องการยางพาราของเอกชน และโรงงานแปรรูป มองว่าเป็นปัจจัยบวกทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ราคายางยังขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุดด้วย ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559