'ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา' เดินตามปณิธานโตโยต้า สร้าง 'เมืองสีเขียว-โลกสีเขียว'

06 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
การประชุมโลกร้อน หรือ COP 21 ณ กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้นำกว่า 195 ประเทศ บรรลุข้อตกลงและร่วมลงสัตยาบัน เพื่อร่วมดูแลปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างชัดเจน เพราะทุกประเทศตระหนักแล้วว่า ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศรุนแรงขึ้นทุกขณะ ไม่อาจผัดผ่อนได้อีกต่อไปแล้ว แต่องค์กรธุรกิจอย่างโตโยต้าลงมือทำล่วงหน้าแล้ว

[caption id="attachment_49984" align="aligncenter" width="500"] โตโยต้าเมืองสีเขียว โตโยต้าเมืองสีเขียว[/caption]

 11ปี “ลดเมืองร้อนฯ” ขยายวงจิตสำนึก

โครงการ “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ โรงเรียนและชุมชน ให้เป็นกุญแจหลักนำไปสู่การจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเปิดให้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และชุมชนภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ นำเสนอโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวทางของโครงการ คือการลดปริมาณขยะ การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การเดินทางอย่างยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่รวมถึงการอนุรักษ์น้ำ และการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก 20 ชุมชนและ 20 โรงเรียน ได้คัดเลือกผู้ผ่านการประกวด ประเภทละ 3 รางวัล

[caption id="attachment_49983" align="aligncenter" width="500"] โตโยต้าเมืองสีเขียว โตโยต้าเมืองสีเขียว[/caption]

ประเภทโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค กรุงเทพฯ โรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ อ.นาหว้า จ.นครพนม และโรงเรียนดาราวิทยาลัย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รางวัลที่1-3 ตามลำดับ

ประเภทชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านหนองสะแกกวน เทศบาลตำบลโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ชุมชนบ้านม่วงชุม เทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และชุมชนบ้านหนองปลาดุก หมู่ 22 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ได้รางวัลที่ 1-3 ตามลำดับเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นำคณะผู้แทนนักเรียน ครู ตัวแทนและผู้นำชุมชน ที่ได้รับรางวัล จากการลงมือทำกิจกรรมลดโลกร้อนในพื้นที่หรือชุมชนตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งที่การสร้างความรับรู้ถึงปัญหา ผลกระทบ และมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เกี่ยวข้องเพื่อลดโลกร้อน ไปศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น เพื่อศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวง

[caption id="attachment_49981" align="aligncenter" width="500"] โตโยต้าเมืองสีเขียว โตโยต้าเมืองสีเขียว[/caption]

มุ่ง “จิตสำนึก-สร้างเครือข่าย”

มานะ ชูขันทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว 11 ปีของโครงการ มุ่งสร้างความต่อเนื่อง และประสานความร่วมมือ ทั้งภาคเอกชน เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเยาวชน มีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 195 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 100 ชุมชน และ 248 โรงเรียน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ที่จะกระจายศูนย์เรียนรู้โลกร้อนอีก 3 แห่ง

[caption id="attachment_49980" align="aligncenter" width="500"] โตโยต้าเมืองสีเขียว โตโยต้าเมืองสีเขียว[/caption]

“นอกจากนี้ยังมีการติดตามผลแม้หลังจบโครงการแล้ว เช่น ติดตามพัฒนาการของโครงการปีที่ 10 ว่า หลังจากกลับจากการมาดูงานที่ญี่ปุ่นแล้ว ได้กลับไปประยุกต์ใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ หรือมีแรงบันดาลใจอะไรจากการดูงาน ที่นำกลับไปต่อยอดในโรงเรียนหรือชุมชนบ้าง”

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่โตโยต้าประเทศไทย ชี้ว่า จากที่ติดตามโครงการนี้มาต่อเนื่อง พบว่าแต่ละปีแผนงานและกิจกรรมของโรงเรียนและชุมชนที่นำเสนอเข้ามานั้น มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนแผนงานของกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้าประเทศไทยในอนาคตนั้น “มานะ” ย้ำว่า จะนำคำประกาศความท้าทาย 6 ประการของโตโยต้าสู่เป้าหมายปี 2050 หรือในอีก 34 ปีข้างหน้า มาปรับใช้ อาทิ ผลักดันโตโยต้ากรีนเวฟ ในการสร้างและขยายเครือข่ายโรงเรียนและชุมชน “ลดเมืองร้อน”ให้เพิ่มขึ้น หรือแผนงานสร้างนิเวศน์ทั้งในระดับโรงงาน ชุมชน จนถึงสังคม

[caption id="attachment_49982" align="aligncenter" width="700"] TOYOTA Environmental Challenge 2050 TOYOTA Environmental Challenge 2050[/caption]

3 เป้าหมายซีเอสอาร์โตโยต้า

ด้านนายซากุราอิ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์)ของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บรรยายว่า กิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) ของโตโยต้า มี 3 เป้าหมายหลัก คือความปลอดภัยบนท้องถนน ส่งเสริมสภาพแวดล้อม และสนับสนุนการศึกษา และดำเนินการต่อเนื่องมายาวนาน โดยในการดูแลสิ่งแวดล้อม นอกจากในกระบวนการผลิตแล้ว ยังขยายถึงการสร้างความตระหนักในหมู่พนักงานและชุมชน ผ่านโครงการปลูกป่าทั้งในโรงงาน ปลูกป่าในเมืองโตโยต้า จนถึงเขตภูเขาสูง หรืออนุรักษ์ชายหาดในฤดูเต่าทะเลวางไข่

ขณะที่ใครๆ ตั้งเป้าที่การ “ลด”การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่โตโยต้าไปไกลกว่า คือตั้งเป้า “งด”ปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมเลยทีเดียว เมื่อการวิจัยและพัฒนารถรุ่นใหม่ประสบผลสำเร็จทั้งชนิดรถพลังงานไฟฟ้า และรถเซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจน ที่สิ่งที่ปล่อยออกมาคือ “น้ำ”

และได้ประกาศวิสัยทัศน์ “TOYOTA Environmental Challenge 2050” หรือ ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 6 ประการ ต้องบรรลุให้ได้ภายใน ปี2050 ” หรือภายใน 34 ปีจากนี้ เมื่อตุลาคมปีที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งรถ โรงงาน และผลิตภัณฑ์ของโตโยต้า บวกด้วยการดำเนินการ 3 ด้านที่ส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม

สู่เป้าหมายสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559