‘ไอยูยู’ครบ1ปีทุบธุรกิจประมงไทยอ่วม

29 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
พิษไอยูยูลามประมงนอกน่านน้ำ เผยถอดใจทิ้งอาชีพแล้วกว่า 600 ลำ เหลือ 50 ลำยังจอดนิ่งไม่กล้าออกทะเล เสียหายแล้วกว่าพันล้าน ผวา พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่แรงงานผิดกฎหมายโทษหนัก ด้านห้องเย็น โรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่นภาคใต้ทยอยปิดกิจการ ขณะเอกชนยันส่งออกสินค้าประมงไปตลาดอียูปี 58 วูบหนัก ปัจจัยหลักจากถูกตัดจีเอสพี ผู้นำเข้าเชียร์ไทยทำดี ส่งซิกรอดใบแดง สมาคมฯทูน่าเตรียมยึดเวทีประชุมทูน่าโลกแจงคู่ค้า ผลงานรัฐ-เอกชนไทยแก้ไอยูยูรอบ 1 ปี

[caption id="attachment_48742" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปบุกตลาดทั่วโลก สถิติการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปบุกตลาดทั่วโลก[/caption]

จากที่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ให้ใบเหลือง และให้เวลาไทยในการจัดระเบียบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู ฟิชชิ่ง)มาครบ 1 ปีเต็มเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา และจะมีการเจรจาเพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไทยในเดือนพฤษภาคม และตุลาคม 2559 ตามลำดับโดยที่ยังไม่มีการตัดสินว่าจะให้ใบแดงไทยหรือไม่นั้น อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงเวลานี้ ไอยูยูยังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องของไทยมากขึ้นทุกขณะ

 ประมงนอกน่านน้ำเหลือแค่ 50

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"นับตั้งแต่ไทยได้มีการแก้ไขปัญหาไอยูยู ฟิชชิ่งอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของอียู และยังมีคำแนะนำให้ไทยต้องปฏิบัติตามในหลายเรื่อง รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซียปิดน่านน้ำเพื่อจัดระเบียบการทำประมงใหม่ส่งผลให้จำนวนเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยจากในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อนที่ออกหาปลากว่า 650 ลำ ปัจจุบันยังเหลือเรือที่ยังประกอบกิจการอยู่กว่า 50 ลำเท่านั้น ซึ่งเรือที่เหลือเหล่านี้ได้ถูกเรียกกลับประเทศตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถออกไปทำการประมง ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีความเข้มงวด และมีโทษรุนแรงได้ ประเมินความเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

โดยปัญหาหลักที่พบคือ เรื่อง แรงงานต่างด้าว โดยฝ่ายกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ให้ใช้แรงงานต่างด้าว(สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา) บนเรือ โดยต้องมีหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต)ที่ประเทศต้นทางออกให้ ขณะที่กระทรวงแรงงานบังคับให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพูแทน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากลูกเรือเหล่านี้เวลาเกิดปัญหาเจ็บป่วย จะขึ้นฝั่งไปรักษาตัวในประเทศที่เข้าไปจับปลาไม่ได้ และถือเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามหลักการของไอยูยู

"นอกจากนี้ตาม พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ยังห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำจากเรือแม่ ผมตั้งคำถามในที่ประชุม ศปมผ.(ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) ว่า จะให้เรือไป-กลับ ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวไม่คุ้ม ที่สำคัญการกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง แล้วโยนมาให้ผู้ประกอบการจ่ายวันละ 4 พันบาท ไม่ไหว ต้นทุนสูงมาก ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ออกเสียงในที่ประชุม บอกว่ารับได้ ทุกวันนี้ทำไมไม่ออกไปทำการประมง ยังมีปัญหาหลายอย่างในเรื่องของแรงงาน เช่น ทุกเดือนจะต้องส่งแฟกซ์เอกสารสลิปเงินเดือนไปให้ที่เรือประมง เรือลำหนึ่งใช้คนประมาณ 30-40 คน เพิ่มค่าใช้จ่ายอีกเดือนละกว่า 400 บาท แล้วแรงงานพวกนี้ส่วนใหญ่จ่ายล่วงหน้าไม่ใช่รายเดือน"

 เมินใบแดง ยันไม่กระทบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาประมงไอยูยูของไทยมองว่ามีแนวทางที่ผิด เพราะไทยเป็นฝ่ายตั้งคำถามว่าจะให้ทำอะไรเพื่อให้อียูปลดใบเหลือง ทำอย่างนี้พอใจหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วกฎระเบียบบางอย่างไม่ต้องมีก็ได้ อย่างประเทศอียูใช้เวลาแก้ปัญหานี้เป็น 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปีหรือ 2 ปี ที่สำคัญไทยต้องยึดตามหลักจรรยาบรรณในการทําการประมงอย่างมีความรับผิดชอบ (FAO, 1995) เป็นของไทยเอง ไม่ใช่ไปเอามาทั้งฉบับแล้วมาปฏิบัติ หากลามไปอุตสาหกรรมอื่นก็จะแย่กันหมด

"ทุกวันนี้หากไทยโดนใบแดง ชาวประมงไม่เดือดร้อน เพราะการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าทูน่ากระป๋องที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากเรือต่างชาติปีละกว่า 6 แสนตัน อีกด้านหนึ่งบริษัทแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ 2-3 รายก็ได้ไปซื้อกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้ว"

 3 พันลำ ทำ VMS ขาดตลาด

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ กล่าวถึง ผลจากการที่กรมประมงได้อนุญาตให้เรือที่มีอาชญาบัตร(ใบอนุญาต)ผิดประเภทและเรือที่ไม่มีอาชญาบัตรจำนวน 3 พันลำ สามารถยื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และกลับเข้ามาในระบบใหม่ได้นั้น ล่าสุด นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สปท.120/2559 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 ถึง พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)ในฐานะผู้บัญชาการ ศปมผ. โดยสาระสำคัญระบุว่า ยังมีเรือประมงจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถติดตั้งระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม (VMS) ได้ เนื่องจากเวลานี้อุปกรณ์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงขอให้อะลุ้มอล่วยให้เรือดังกล่าวนี้สามารถออกไปทำการประมงได้เป็นกรณีพิเศษ

"ปัญหาระบบติดตามเรือ ที่ชาวประมงกังขา คือ กรณีเรือซ่อมบำรุง จะไปยกเลิกค่าบริการจ่ายรายเดือนก็ไม่ได้ มีปัญหาอีก โดนกล่าวหาว่าจะไปลอบทำการประมงผิดกฎหมาย จะหายไปเฉยๆ ก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เรือออกหรือไม่ออก ชาวประมงก็เสียค่าจ่ายรายเดือนละ 1 พันบาท ยิ่งทำให้ชาวประมงลำบากใจ"

 อุตฯประมงใต้เงียบเหงา

นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด และบริษัทในเครือ PFP มีที่ตั้งโรงงาน ณ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากที่อียูได้ให้ใบเหลืองไทยมาครบ 1 ปี รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซียได้ปิดน่านน้ำเพื่อจัดระเบียบการทำประมงใหม่ ส่งผลให้เรือประมงนอกน่านน้ำ เรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา และในอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ต้องหยุดออกหาปลา ผลจาก พ.ร.ก.การประมงปี 2558 ที่เข้มงวดมาก ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้ในทุกเรื่อง และจากโทษที่รุนแรงทั้งปรับและจำ ทำให้ไม่กล้าออกไปทำประมง ส่งผลกระทบทำให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำขาดแคลนวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ หลายโรงงานได้ปิดกิจการไปแล้ว ในส่วนของบริษัทได้เลิกไลน์ผลิตเนื้อปลาบด(ซูริมิ) และหันไปนำเข้าแทน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อโรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่

ส่งออกอียูวูบจากถูกตัด GSP

ขณะที่ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวถึง การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ หรือสินค้าประมงของไทยที่ลดลงมาก (ดูตารางประกอบ) เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปตลาดอียู (ข้อมูลของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยระบุ การส่งออกสินค้ากุ้ง ปลาหมึก และปลาของไทยไปตลาดอียูในปี 2558 ลดลง 53%,19% และ 24% ตามลำดับ)ปัจจัยหลักมาจากการที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ในปี 2557-2558 ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน เช่น กุ้งสดแช่แข็งจากได้จีเอสพีเสียภาษี 7% เพิ่มเป็น 20% ทูน่ากระป๋อง จาก 21% เป็น 24% เป็นต้น

"การได้ใบเหลืองไอยูยูไม่มีผลกระทบเท่าเรื่องที่เราถูกตัดจีเอสพี ขณะที่ตลาดอียูคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกสินค้าประมงของไทยไม่ถึง 10% แต่ก็ถือมีความสำคัญ ทั้งนี้จากการคุยกันระหว่างภาคเอกชนของไทยกับสมาคมการค้าสินค้าสัตว์น้ำของอียู เขาชื่นชมการแก้ไขปัญหาประมงของไทยทำได้ดี และมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมาก ซึ่งเขาเชื่อว่าเราจะไม่ถูกให้ใบแดง ขณะที่ในการประชุมการค้าทูน่าโลกในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ(จัดทุก 2 ปี) ผมจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในทุกมิติของไทยต่อประชุมด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559