ปิยะพร อังอุบลกุล ยึดหลักการทำงาน 'ต้องรู้จริง รู้ถึงรากของมัน'

01 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
แวบแรกที่เห็นโอ๋ " ปิยะพร อังอุบลกุล" สาวหน้าหวาน ร่างบาง แต่มากฝีมือด้านงานดีไซน์ ที่ไม่ธรรมดาคนนี้ เธอมีดีกรีจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี (Birmingham City University)สาขาแฟชั่นดีไซน์ ประเทศอังกฤษ ต่อด้วยปริญญาโทด้านแฟชั่นดีไซน์ที่สถาบันโมรอนโคนี(Instituto Marangoni) กรุงลอนดอน

[caption id="attachment_48889" align="aligncenter" width="338"] สนั่น อังอุบลกุล ซีอีโอ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และ ปิยะพร อังอุบลกุล (ลูกสาว) สนั่น อังอุบลกุล ซีอีโอ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และ ปิยะพร อังอุบลกุล (ลูกสาว)[/caption]

วันนี้ในวัย33 ปีเต็ม ต้องบอกว่าเธอมีความรับผิดชอบเกินวัย เพราะปัจจุบันนอกจากอยู่ในบทบาทดีไซเนอร์ แบรนด์ การ์เด้น ฟลายนาว ทรี( Garden Flynow III) แบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ในเครือFlynow แล้ว เธอยังเป็นดีไซเนอร์ แบรนด์ เดอะ พ๊อตเตอร์ (The Potters)ภายใต้บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังได้รับการขานรับจากตลาดฮ่องกงและไทยอยู่ในขณะนี้

จุดเริ่มต้นของ 2 ภารกิจที่รับผิดชอบอยู่ ล้วนมาในจังหวะดี การเริ่มต้นทำงานดีไซน์ก็เป็นจังหวะที่ Flynow ออกแบรนด์ใหม่พอดีคือ Garden Flynow III เป็นการดีไซน์แนวเรียบ เท่ห์ ใส่ง่ายขึ้น เจาะกลุ่มวัยทำงานตลาดบน จะต่างจากแบรนด์แม่ที่การดีไซน์จะออกแนวสีสัน ฉูดฉาด

นอกจากงานด้านดีไซน์เสื้อผ้า เครื่องหนังแล้ว ก็ต้องลงไปคลุกคลีกับงานด้านการตลาดด้วย ต้องรู้ตั้งแต่การออกแบบเสื้อผ้า ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ต้องผ่านการขายเสื้อผ้าหน้าร้าน เพื่อดูปฏิกิริยาลูกค้า ว่าชอบอะไร แนวไหน สร้างความเข้าใจถึงตัวลูกค้าให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดประโยชน์บนโต๊ะประชุมที่จะได้ข้อสรุปจากทุกมุม มาระดมร่วมกันกับผู้จัดการร้านทุกสาขา เก็บข้อมูลหน้าร้านเพื่อสรุปรูปแบบแล้วกลับไปดีไซน์ออกมาโดยทำงานกันเป็นทีม

เธอเล่าว่าการเป็นดีไซเนอร์ก็มีข้อผิดพลาดได้ เหมือนในช่วงแรกๆที่ทำงาน คนดีไซน์จะออกสเต็ปด้านงานแฟชั่นเร็วเกินไป ทำให้ลูกค้าตามไม่ทัน ก็ต้องกลับมาปรับตัวเองให้ช้าลงแต่ไม่ตกเทรนด์ และยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
เมื่อถามว่าการดีไซน์เสื้อผ้ากับการสร้างศิลปะบนถ้วย จาน เมลามีนต่างกันอย่างไร เธอบอกว่าทั้ง 2 อย่างเป็นงานดีไซน์ที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่วิธีคิด ในการออกแบบจะต่างกันที่ตัวโปรดักต์ อย่างแฟชั่นเสื้อผ้าเวลาออกแบบกราฟิก เราสามารถใส่ตัวตนของแบรนด์ได้เต็มที่ แต่จาน ชาม เมลามีนการออกแบบมีข้อจำกัดมากกว่า เพราะตัวสินค้าจาน ชาม เมื่อใส่อาหารลงไปต้องน่ารับประทาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เมลามีนที่ออกแบบเป็นระบบที่ทำจากโมลด์ ออกจากโรงงาน มีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคมากกว่าเซรามิก สรุปว่างานออกแบบทั้ง2ส่วนนี้ไปด้วยกันได้แต่ ตัวเมลามีนต้องเข้าถึงโปรดักต์ โดยเรียนรู้ตั้งแต่ตัววัตถุดิบ ไลน์ผลิต เพราะระบบผลิตไปทั้งล็อต เกี่ยวข้องกับต้นทุนรวม ขณะที่การดีไซน์เสื้อผ้าไม่มีข้อจำกัดมากขนาดนี้

โอ๋บอกว่างานดีไซน์ทั้ง2ส่วนนี้ที่เหมือนกันคือแผนการตลาด ต้องรู้กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ อย่างแบรนด์ The Potters จะเจาะกลุ่มคุณแม่มือใหม่อายุ 30-40 ปี เพราะมีอิทธิพลในการซื้อของเข้าบ้าน เจาะกลุ่มคนโสด วัยรุ่น เด็กหอ ได้หมด ซึ่งแบรนด์นี้ได้รับการตอบรับมาก่อนแล้วที่ฮ่องกง พอมาปี2558 เพิ่งมาเปิดตลาดในไทยวางจำหน่ายในเซ็นทรัล6สาขา ตลาดได้รับการขารับดีจนหายเหนื่อย

[caption id="attachment_48887" align="aligncenter" width="500"] The Potters The Potters[/caption]

จากความสำเร็จทั้งหมดเธอบอกว่ามาจากหลักคิดในการทำงานที่ต้องรู้จริง รู้ถึงรากของมัน เหมือนแบรนด์ The Potters ทำจาน ชาม ก็ต้องรู้ประวัติคนทำจาน ชาม รู้ต้นตระกูล Pottersคือคนทำจานชาม และรากเหง้าของคนทำจาน ชาม ก็นามสกุลพอตเตอร์ เช่นเดียวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์จะผสมผสานระหว่างศิลปะแนวคิดคลาสสิกของศิลปะยุโรป โดยเฉพาะศิลปะด้านเดคอเรทีฟอาร์ตจากยุคบาโรก (Baroque)แต่แฝงความร่วมสมัย หรูหรา หรือตัวแบรนด์ก็สร้างตัวละครเป็นการ์ตูนขึ้นมาเป็นเรื่องราวในชามเมลามีน และทำเป็นแอนิเมชันเล็กๆ เจาะสื่อโซเชียลโดยทำตัวการ์ตูนให้มีมูลค่ามากขึ้น และมองต่อไปอีกว่า อาจขายไลเซนส์เป็นตัวละครได้ด้วย

สมกับเป็นลูกสาวนักธุรกิจ ชื่อดัง สนั่น อังอุบลกุล ซีอีโอ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ที่ลูกสาวคนสวยแอบบอกว่ามีคุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดี ทำสิ่งดีๆให้เห็น และฝากข้อคิดให้ลูกสาวเสมอว่า"ทำอะไรให้ทำจริง สิ่งใดดีคิดแล้วทำทันที และให้มองปัญหาเป็นโอกาส เพราะ...ถ้าไม่เกิดปัญหา ก็ไม่รู้วิธีแก้ไข ไม่มีประสบการณ์ ..นี่คือคัมภีร์จากพ่อถึงลูกที่น้องโอ๋ ถือปฏิบัติมาตลอด!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559