ปิดฉากเรือประมงจับปลาอ่าวไทย-อันดามัน

22 เม.ย. 2559 | 09:00 น.
ปิดฉากเรือประมงข้ามฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน หลังเลยจุดผ่อนผัน 1 เม.ย ประมงออกกฎให้เลือกจับปลาทะเลเดียว ผู้ประกอบการประมงระนองหนุนสุดลิ่ม ยันต้องการให้จัดระเบียบอุปกรณ์ทำกิน หากฝ่าฝืนจับกุมทันที ชี้แก้ปมปัญหาการแย่งชิงคนงาน-แย่งพื้นที่ทำประมงได้มาก

นายทวี บุญยิ่ง นายกสมาคมประมง จังหวัดระนอง เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากกรณีที่กรมประมงได้ออกประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ จัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ที่ใช้เรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องทำเครื่องหมายประจำเรือแต่ละประเภท และต้องเลือกทำประมงได้เฉพาะทะเลอ่าวไทยหรืออันดามันฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น โดยเรือที่ขออนุญาตทำการประมงทะเลอ่าวไทยให้ขึ้นเลขทะเบียนและใช้หมวดอักษรภาษาอังกฤษนำหน้าเป็นตัว T ส่วนทะเลอันดามันใช้อักษร A และเรือทุกลำต้องมีคิวอาร์โค้ดประจำเรือ โดยให้ติดไว้ที่ห้องควบคุมเรือที่มองเห็นชัดเจนตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งการขออนุญาตจะได้คราวละ 2 ปี ทำให้ชาวประมงจากฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ขนย้ายเรือไปจับปลาฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถไปทำการประมงตามฤดูกาลได้เหมือนที่ผ่านมาได้ เพราะจะถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งประกาศกรมประมงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 แต่ได้ผ่อนผันให้เรือพาณิชย์ทุกประเภทดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดจะจับกุมดำเนินคดีนั้น ทางผู้ประกอบการประมงในจังหวัดระนองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะจะทำให้การทำประมงมีระบบที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านมาการโยกย้ายเรือประมงข้ามฟากจากอ่าวไทยมายังอันดามันได้สร้างปัญหาหลายประการ อาทิ การเข้ามาแย่งชิงคนงานประมงของเรือประมงจากอ่าวไทยที่ขนเรือประมงมาเฉพาะเรือและไต๋เรือ แต่ไม่ได้นำคนงานมาด้วยเมื่อข้ามฟากมาก็จะประกาศหาคนงานโดยให้ค่าจ้างสูงเพราะมาเพียง 3-4 เดือนก็กลับ ทำให้คนงานในเรือประมงฝั่งอันดามันบางส่วนเปลี่ยนงานไปทำงานบนเรือประมงจากอ่าวไทยแทน ส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก

เมื่อเรือประมงที่ทำประมงในฝั่งอันดามัน จะออกทำประมงก็ไม่สามารถออกได้เพราะขาดคนงานต้องเสียเวลาหาคนงานใหม่มาทดแทน ส่วนอีกปัญหาคือการเข้ามาของเรือจากอ่าวไทยที่เข้ามาแย่งพื้นที่ทำการประมงที่มีอยู่อย่างจำกัดในฝั่งอันดามัน ส่วนที่ทางผู้ประกอบการประมงไม่เห็นด้วยคือระยะเวลาในการอนุญาตที่กำหนด 2 ปีจึงจะแจ้งเปลี่ยนฝั่งการทำประมงได้นั้นทางผู้ประกอบการมองว่า 1 ปีน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะมีกฎหมายบางตัวที่ขัดแย้งกันอยู่ อาทิ หากมีผู้ประกอบการเรือประมงในฝั่งอันดามันซื้อเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำประมงในฝั่งอ่าวไทย แต่ประสงค์จะนำมาจับปลาในอันดามันก็จะต้องรอถึง2 ปีจึงจะนำมาได้

ด้านเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดระนองกล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการจัดระเบียบเรื่องการทำประมงให้เรือพาณิชย์ต้องระบุเครื่องมือทำการประมงและต้องเลือก ทำการประมงเฉพาะทะเลฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้คราวละ2 ปี เมื่อมีการขออนุญาตใหม่ก็สามารถเลือกพื้นที่ทำการประมงใหม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์จะต้องแจ้งการเข้าออกเรือ และจำนวนปริมาณปลาที่จับได้ในแต่ละครั้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณปลาและสัตว์น้ำแต่ละฝั่งทะเลว่าแต่ละปีมีปริมาณมากน้อย เพิ่มหรือลดลงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการที่จะมีผลต่ออนาคตของชาวประมงเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559