รถไฟฟ้าความเร็วสูงนำพาความเจริญ

09 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างไทย-จีนได้ข้อสรุปชัดเจนแน่แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระหว่างการประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง (ต้นสายแม่น้ำโขงในจีนเขาเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง) ครั้งที่ 1 ณ ประเทศจีน โดยฝ่ายไทยจะลงมือดำเนินการลงทุนเองทั้งหมด

ฉะนั้นต่อไปคงจะเรียกว่า "โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายแรกของไทย" วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนครราชสีมา งานนี้รัฐบาลจะระดมเงินทุนขึ้นมาดำเนินการเอง วิธีการระดมเงินทุนอย่างหนึ่งก็คือ ระดมทุนผ่านกองทุนฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งจะออกงวดแรกเร็วๆ นี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนอื่นๆ ยังไม่ชัดเจนว่าจะระดมทุนอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ผมก็เชื่อว่า รัฐบาลสามารถระดมทุนมาดำเนินการได้สบายมาก หรือจะออกตราสารหนี้สักส่วนหนึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มจะลดระดับลงต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่ตราสารนี้เอาระยะปานกลางก็คงจะดี เพราะระยะยาวจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจนเกินไป

ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ภายในปีนี้แน่นอน เพราะถ้าไปปล่อยให้ไปดำเดินการปีหน้าผมว่าไม่น่าจะเหมาะสม เพราะมีการเลือกตั้งทั่วไป ที่ว่าไม่เหมาะ เพราะโครงการแบบนี้ต้องการความเด็ดขาด แน่นอน กระทรวงคมนาคมวางแผนไว้อย่างไรก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น ไม่ต้องทำให้เรื่องยุ่งมากๆ ตามสไตล์นักการเมือง ไม่ต้องไปเสียเวลาต่อรองเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น จะว่าไปแล้วผลงานการตัดสินใจที่เด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีมีเยอะมากๆ เขียนแค่หัวข้ออย่างเดียว 3 หน้ากระดาษก็ยังไม่หมด ...นี่ล่ะคือคำตอบ ทหารปฏิวัติแล้วสังคมได้อะไร ? ก็จะอะไรเสียอีก เรื่องที่คนอื่นทำแล้วดูยุ่งๆ ทหารตัดสินใจดำเนินการ ใครขวาง ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เข้าจัดการก็เรียบร้อย ยกเว้นเรื่องเดียวที่ยังไม่เรียบร้อยก็คือ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่นายกฯไม่กล้าตัดสินใจ "ฟันธง" เสียที ซึ่งผมก็สงวนสิทธิ์ที่จะตัดคะแนนนายกรัฐมนตรีตรงนี้เอาไว้อีกสักเรื่องหนึ่งครับ

รถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรได้รับการพัฒนา และเมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะดำเนินการแล้วก็ขอให้ดำเนินการไปตามวาระ ไม่ต้องไปสนใจว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจอะไรแบบรีบร้อนเกินไปหรือเปล่า ? ข้อนี้ก็อย่าไปสนใจ เพราะผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจและสังคมผมเชื่อว่ามีมูลค่ามหาศาล การเลือกเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นโครงการแรกถือว่าเหมาะสมที่สุด เพราะหลังจากเปิดเดินรถแล้ว การเดินทางคมนาคมจะสะดวกสบายขึ้น ทั้งคนเดินทางโดยรถไฟฟ้า และคนเดินทางโดยรถยนต์ เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ระยะทางปัจจุบันจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา บนทางหลวงมีระยะทางประมาณ 259 กม. ความเร็วของรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทยสายแรกประมาณ 250 กม. ผมว่าคงใช้เวลาวิ่งประมาณ 1-1:20 ชั่วโมงก็ถึง

นอกจากการเดินทางที่สะดวกแล้วยังก่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่รถไฟแล่นผ่านและใกล้สถานีรถไฟฟ้าด้วย ชุมชนอาจมีอาชีพใหม่ คือ รับบริการส่งคนเดินทางถึงที่หมาย อาจมีสัมปทานเดินรถโดยสารจากสถานีตามจุดต่างๆ ไปยังแหล่งท่องเที่ยว เกิดธุรกิจท่องเที่ยวรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หรือไม่รายเก่าก็ขยับขยายกิจการ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนเดินทางกับการค้าสินค้าชุมชนที่แนบแน่นอย่างที่สุด สถานที่ท่องเที่ยวที่เคย "ซุกตัว" อยู่จะได้รับการเปิดเผยมากขึ้น ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะคึกคักกันมากขึ้น โรงแรมและสถานที่พักต่างๆ จะต้องเติบโตมากขึ้นตามจำนวนคนเดินทาง

สำหรับตัวจังหวัด อาทิ จังหวัดสระบุรีและนครราชสีมานั้นไร้ข้อสงสัย อย่างไรก็ต้องเจริญขึ้นอย่างแน่นอน ปริมาณคนเดินทางจะหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นทำให้การค้าขายจะเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จะเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหนก็ตาม เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะเพิ่มจำนวนคนเดินทางมากขึ้น และเขาก็คือ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่จะมาพร้อมกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั่นเอง ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559