ชูวิทย์ โต้ “กินปูนร้อนท้อง?”

24 ก.ย. 2562 | 01:37 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายชูวิทย์  กมลวิศิษฎ์ ได้โพสข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว ....กินปูนร้อนท้อง? พร้อมนำประเด็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า โต้ “ชูวิทย์” ยัน “วงศ์สกุล ”ว่าที่อสส.ไม่มีเอี่ยวช่วยคดี“เสี่ยกำพล”ค้ามนุษย์ “วิคตอเรีย”https://www.matichon.co.th/local/crime/news_1682880

ทั้งนี้ นายชูวิทย์ ยังได้ตั้งข้อสงสัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และสังคม แทนประชาชนดังนี้

1. คดีที่อยู่ในความสนใจจับจ้องของสังคม เช่น คดีค้ามนุษย์ ศาลที่พิพากษาเป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังมิได้สิ้นสุดกระบวนการของกฎหมาย อีกทั้งเป็นคนละคดีกัน และจำเลยเป็นคนละกลุ่มกัน สามารถนำคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกคดี มาใช้อ้างอิงเพื่อขอถอนหมายจับผู้ต้องหาอีกคดีได้หรือไม่?

2. คำสั่งถอนหมายจับ ที่ผู้ต้องหาเป็นจำเลยในอีกคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็น “ผู้หลบหนีหมายจับ” ในระหว่างดำเนินคดี ผู้ต้องหาที่หลบหนีสามารถยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ในขณะหลบหนีหมายจับไปต่างประเทศอยู่ ได้หรือไม่?

3. มีการตัดทอนคำพิพากษาของคดีอื่นบางส่วน เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ใช้พิจารณาการถอนหมายจับ ให้แก่ผู้หลบหนีอีกคดีได้หรือไม่? 

4. นายกำพลเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงิน มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 3,000 ล้าน ย่อมส่งผลถึง การที่ให้พนักงานระดับล่าง (เชียร์แขก) รับสมอ้างเพื่อให้ระดับสั่งการรอด (นายกำพล และนางนิภา) มีอัยการที่เห็นต่างในคดี ต้องการยื่นอุทธรณ์ และเพื่อให้โอกาสในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา สมควรให้ผู้หลบหนีคดีมามอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการของศาล ก่อนตัดตอนถอนหมายจับ หรือไม่?

เพราะการถอนหมายจับบางคนในกลุ่มเจ้าของ ย่อมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชน โดยเฉพาะการเอาคดีอาญาที่แม้มีข้อเท็จจริงเดียวกัน ย่อมไม่อาจมีผู้ใดกล่าวอ้างนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาก่อนหน้า มาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ได้ ศาลต้องเปิดโอกาสให้มีการนำสืบข้อเท็จจริงด้วยพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย

ทั้งนี้เพราะว่าคำพิพากษาในคดีก่อน ย่อมมีสถานะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ไฉนท่านอัยการจึงไปตัดสินด้วยตัวเองในการถอนหมายจับ?

5. นายรณสิทธิ์ มูลนิธิเอ็นเวเดอร์ ยืนยันพร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ภายในอาทิตย์นี้ เพื่อร้องว่าคำให้การของตัวเองถูกตัดทอน แล้วไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อนายกำพล และนางนิภา ในการถอนหมายจับ การใช้ดุลยพินิจทางกฎหมายของอัยการย่อมต้องตีความเพื่อเป็นคุณต่อแผ่นดินอย่างเป็นธรรม ไม่ช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งหากเป็นคดีค้ามนุษย์ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ยิ่งต้องระมัดระวังในการใช้ดุลยพินิจให้เป็นประโยชน์กับสังคม

ผมจะถือโอกาสร่วมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และเผยแพร่ต่อประชาชนผู้มีใจบริสุทธิ์ ต่อต้านขบวนการ “ธุรกิจเพศพาณิชย์” ที่ใช้เด็กอายุ 12-13 ปีมาค้าบริการทางเพศ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป หากเกิดกรณีเช่นเดียวกันนี้อีก

เพราะความผิดเพี้ยนของการใช้ดุลยพินิจ คือ คนเป็นผัวเมียอยู่ด้วยกัน แล้วมันจะไม่รู้เห็นด้วยกันเชียวหรือ?

อัยการยืนยันว่าผัวผิด สั่งฟ้องต่อ แต่เมียดันไม่ผิด

นี่ถ้าผมไม่พูดขึ้นมาเสียก่อน สงสัยผัวคงได้เตรียมซื้อตั๋วเครื่องบินกลับบ้านเรียบร้อย