จีนชื่นมื่น 5 ชาติอาเซียน ใช้เวทีประชุมล้านช้าง-แม่นํ้าโขง สร้างกรอบความร่วมมือ

29 มี.ค. 2559 | 08:30 น.
การประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งแรกจัดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนานของจีนเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้นำ 5 ชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ตอกย้ำใช้แนวทางความร่วมมือฉันมิตรส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาค

ผู้นำจีนระบุว่า กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงนี้ เป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่ ควรยึดหลักการร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และถือการพัฒนามาเป็นอันดับแรกเพื่อเดินหน้าโครงการต่างๆ ส่งเสริมการเปิดเสรีและเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนากรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในอนาคต โดยต้องการให้ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงกระชับความร่วมมือด้านการเชื่อมสัมพันธ์และอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ แม่น้ำล้านช้าง (Lancang River) หมายถึงแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งอยู่ในดินแดนประเทศจีน นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า จีนกับ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงมีภูเขาและแม่น้ำที่เชื่อมถึงกัน มีผลประโยชน์ร้อยเรียงกันอย่างแนบแน่น ด้วยพื้นฐานความร่วมมือที่แข็งแกร่ง จึงมีความพร้อมในการวางรากฐานสำคัญของกลไกความร่วมมือ "เราควรใช้กลไกนี้ในการสร้างกรอบความร่วมมือที่สอดคล้องกับสามเสาของอาเซียน ได้แก่ ความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรม ให้พัฒนาร่วมกันอย่างกลมกลืน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจข้ามพรมแดน การเกษตร และการลดความยากจนมาเป็นอันดับแรก"

นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า ควรยึดการพัฒนาเป็นเป้าหมายแรกในการสร้างความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และแปรลักษณะการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจเป็นแรงสนับสนุนเพื่อการพัฒนา ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมด้วยวิธีการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปัน เพื่อจะสามารถพัฒนาไปด้วยกัน

สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมระดับผู้นำได้ให้การรับรอง "ปฏิญญาซานย่า" ของการประชุมผู้นำความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งแรก โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนากลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในอนาคต ได้ร่างพิมพ์เขียว ตลอดจนได้ผ่านแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตของประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ทั้งนี้ ยังได้ให้การรับรองรายชื่อโครงการ Early Harvest เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ บรรลุผลโดยเร็ว และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่น

ในส่วนของความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเส้นทางแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงซึ่งมีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับบทบาทของจีนทั้งเชิงบวกและเชิงลบในฐานะประเทศที่อยู่ต้นน้ำนั้น นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า จีนยินดีร่วมกับประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

[caption id="attachment_40930" align="aligncenter" width="500"] จีน-ไทยมีความผูกพันเสมือนครอบครัวเดียวกัน ผู้นำ2 ประเทศรักษาการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด จีน-ไทยมีความผูกพันเสมือนครอบครัวเดียวกัน ผู้นำ2 ประเทศรักษาการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด[/caption]

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของจีนยังได้พบปะหารือระดับทวิภาคีกับ 5 ชาติสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยในการ พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย นายหลี่กล่าวย้ำว่า จีน-ไทยมีความผูกพันเสมือนครอบครัวเดียวกัน ผู้นำ2 ประเทศรักษาการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือทุกด้านมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จีนชื่นชมไทยที่ให้ความร่วมมือกับจีนในการตั้งกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และยินดีร่วมกับทุกฝ่าย สร้างความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้เป็นแบบอย่างของความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งยังระบุด้วยว่า ในส่วนของโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น หวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินโครงการนี้ให้บรรลุผลตามหลักแห่งการเกื้อกูลและอำนวยประโยชน์แก่กัน โดยเป็นการ win-win หรือชนะทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนการพบปะหารือกับนายทองสิงห์ ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาวนั้น นายหลี่ เค่อเฉียงระบุว่า ปี 2559 นี้เป็นปีแรกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นปีครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ฉะนั้น จีนจะสนับสนุนประชาคมอาเซียนเช่นที่เคยเป็นมา และจะสนับสนุนลาวที่ปีนี้เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนอย่างเต็มกำลัง จีนหวังว่าลาวจะร่วมสร้างกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้ประสบผลสำเร็จ

ในการพบกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฝ่ายผู้นำจีนแสดงความหวังว่า จะมีการขยายความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันทุกด้านให้มากขึ้น และเดินหน้ายุทธศาสตร์ความร่วมมือทุกด้านให้บรรลุผลมากขึ้น "จีนและกัมพูชาควรเชื่อมยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันมากขึ้น เดินหน้าความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนมากขึ้น เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนและช่วยเหลือกัมพูชาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป และส่งเสริมนักธุรกิจจีนให้เพิ่มการลงทุนในกัมพูชา" นายหลี่ เค่อเฉียงกล่าว

นอกจากนี้ ในการพบกับนายไซ หมวก คำ รองประธานาธิบดีเมียนมา จีนย้ำว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะดำเนินความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์กับเมียนมาเหมือนที่แล้วมา และหวังว่า 2 ฝ่ายจะเดินหน้าความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมสัมพันธ์ และนิคมอุตสาหกรรม เสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น ตลอดจนร่วมรักษาสันติภาพและความสงบตามพื้นที่ชายแดนจีน-เมียนมา ซึ่งฝ่ายเมียนมาเองก็ระบุว่า ต้องการเพิ่มความร่วมมือกับจีนในโครงการอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน ทางหลวง และชลประทาน

ส่วนการหารือกับนายฟาม บินห์ มินห์ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามนั้น นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามปรากฏแนวโน้มการพัฒนาที่ดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของ 2 ประเทศเยือนกันและกัน โครงการความร่วมมือทางทะเล ทางบก และทางการเงินที่ทำขึ้นกับผู้นำเวียดนามระหว่างการเยือนเวียดนามเมื่อปี 2556 ก็ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงเชื่อว่า ขอเพียง 2 ฝ่ายใช้ความพยายามร่วมกัน ร่วมหารือในการบริหารจัดการข้อพิพาทต่างๆ สานสัมพันธ์ภาคประชาชนให้แนบแน่น ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามก็จะมีอนาคตที่สดใส

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559