โลว์คอสต์ระอุ เปิดศึกบินยุโรป เจาะตลาดใหม่

03 ส.ค. 2562 | 00:20 น.

      จับตาปีหน้าสมรภูมิโลว์คอสต์ ลองฮอลระอุ ไทยไลอ้อน แอร์ จ่อบินยุโรป ชิงเค้กแข่งไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หวังเจาะลูกค้าใหม่ หนีตายตลาดเรดโอเชียน

         หลังจากเปิดสงครามหั่นราคาและอัดโปรโมชันถี่ยิบของสายการบินต้นทุนตํ่าของไทยที่มี 6 สายการบิน เพื่อรักษาฐานผู้โดยสารกว่า 72 ล้านคนในเส้นทางบินภายในประเทศและในภูมิภาคนี้กันอย่างหนัก จนกลายเป็นตลาดเรดโอเชียน ส่งผลให้การขยับราคาค่าโดยสารเป็นไปอย่างยากลำบาก

        โดยมี 2 สายการบินเป็นเจ้าตลาด ไทยแอร์เอเชีย ครองอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 45% ไทยไลอ้อนแอร์อันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วน 24% ซึ่งคาดว่าในปีหน้ายิ่งจะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในเส้นทางบินระยะไกลตามมา เมื่อทั้ง 2 สายการบินต่างมีแผนเปิดเส้นทางบินไปยุโรปและเส้นทางบินระยะไกลเช่นกัน

        นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแผนธุรกิจในปีหน้าจะเปิดจุดบินใหม่ออกนอกภูมิภาคเอเชีย เพื่อหวังขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เพิ่มเติมจากเส้นทางบิน ภายในประเทศและภูมิภาคเอเชีย ที่ปัจจุบันทำการบินอยู่ไม่ตํ่ากว่า 31 จุดบิน ซึ่งถือว่าครอบคลุมหลายเมืองหลักในภูมิภาคนี้

อัศวิน ยังกีรติวร

         ดังนั้นในปีหน้าจึงมีแผนจะเปิดเส้นทางบินข้ามทวีป หรือ โลว์คอสต์ ลองฮอลล์ ซึ่งกำลังศึกษาเส้นทางบินที่ใช้เวลาบินเกิน 9-10 ชั่วโมงขึ้นไป อาทิ ยุโรป, ตะวันออกกลาง โดยจะทำการบินด้วยเครื่องบินลำใหญ่อย่างแอร์บัส 330 นีโอ ที่จะทยอยเช่าเข้ามาเพิ่มจากที่จะส่งมอบในเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 1 ลำ รองรับผู้โดยสารได้กว่า 430 ที่นั่ง พร้อมทั้งมีแผนจะแยกเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับการขอสิทธิการบินเพื่อขยายเน็ตเวิร์กในอนาคตด้วย

        “การเปิดเส้นทางบินข้ามทวีป จะทำให้มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่เป็นคนไทย 80% ต่างชาติ 20% แต่หลังจากเปิดบินเข้าญี่ปุ่น 4 จุดบิน อย่างโอซากา นาโกยา ฟุกุโอกะ โตเกียว ทำให้มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น จึงหวังว่าการบินข้ามทวีป ไม่เพียงขยายกลุ่มผู้โดยสารต่างชาติ แต่ยังมีฐานผู้โดยสารกลุ่มใหม่ที่เป็นคนไทยที่นิยมเดินทางไกลด้วย”

        อย่างไรก็ดีรายได้จากเส้นทางบินในประเทศ ปีนี้ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา เพราะจุดบินเท่าเดิม แต่รายได้เส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จากอัตราการบรรทุกเฉลี่ยที่จะเพิ่มจาก 59% มาเป็น 65% เนื่องจากมีการทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพ่่ิมอาทิ เมืองดักก้า ที่บังกลาเทศ เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา การเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางไต้หวัน และเดือนตุลาคมนี้จะเปิด 2 จุดบินใหม่ สู่ มะนิลาและเมืองเสียมเรียบ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนที่เติบโตขึ้น

โลว์คอสต์ระอุ  เปิดศึกบินยุโรป  เจาะตลาดใหม่

      ขณะที่ปัจจุบันมีฝูงบิน 33 ลำ อาทิ แอร์บัสเอ 330 จำนวน 3 ลำ โบอิ้ง 737-900 ER จำนวน 19 ลำ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 11 ลำ ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX จำนวน 3 ลำ ที่ถูกห้ามบินไปกว่า 4 เดือน ระหว่างรอนำเครื่องบินรุ่นอื่น คือ โบอิ้ง 737-900 มาให้บริการแทน

         ส่วนผลประกอบการปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาและยังคงประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวในปีนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงและยังได้รับผลกระทบจากโบอิ้ง 737 MAX ด้วย คาดว่าตลอดทั้งปีนี้อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 82% และคาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 12-13 ล้านคน นายอัศวิน กล่าว

นัดดา บุรณศิริ

         ด้านนายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เผยว่า ในปีหน้าสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะเริ่มรุกเปิดตลาดเส้นทางบินระยะไกล หลังจากที่ผ่านมาได้เปิดจุดบินในระยะกลาง อย่างญี่ปุ่นกว่า 5 จุดบิน และเปิดไปบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการเปิดจุดบินใหม่สู่เมืองรองในยุโรป เพื่อรองรับตลาดยุโรปที่เดินทางมาเที่ยวไทย รวมถึงคนไทยที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวในยุโรปเพิ่มขึ้น การมีโลว์คอสต์ บริการจะตอบโจทย์ได้ และจะเปิดจุดบินใหม่เพิ่มอีก 1 จุดในออสเตรเลีย

       “การเปิดบินข้ามทวีป ทำให้สายการบินมีการทยอยรับมอบเครื่องบินใหม่ ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างแอร์บัส 330 นีโอ จำนวน 3 ลำ เพื่อรองรับเส้นทางบินระยะไกล เพราะความสะดวกสบายของเครื่องบินมีความสำคัญ ส่วนการที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีแผนจะเปิดบินระยะไกลก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งต้องลองลงสนามดูก็จะรู้ เพราะการบินระยะไกลจะมีต้นทุนที่สูง จะนำเรื่องราคาตํ่าสุดมาขายตลอด ก็อาจจะบาดเจ็บได้เช่นกัน”

โลว์คอสต์ระอุ  เปิดศึกบินยุโรป  เจาะตลาดใหม่

       รวมทั้งในปีหน้าสายการบินจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดบริการมา 5 ปี มีกำไรติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ปี 2559 กำไร 50 ล้านบาท ปี 2560 กำไร 300 ล้านบาท ปี 2561 กำไร 520 ล้านบาท และปีนี้มีการรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำเป็น 14 ลำ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 3 ล้านคน มีรายได้ราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3492 วันที่ 1-3 สิงหาคม 2562

โลว์คอสต์ระอุ  เปิดศึกบินยุโรป  เจาะตลาดใหม่