อาเซียนไฟเขียวเอกชน รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเอง

18 ก.ค. 2562 | 09:38 น.

พาณิชย์ เผยผลสำเร็จการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุด ประเทศสมาชิกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเองได้ในปีหน้า พร้อมระบบ ASW และเตรียมให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในเดือนกันยายนนี้

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค.2562 ว่า ที่ประชุมสามารถหาข้อสรุปในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์เพราะเมื่อผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ประเทศนั้นจะยอมรับผลการตรวจสอบนั้นเช่นกันโดยไม่ต้องตรวจซ้ำและพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทของWTO โดยที่ประชุมขอให้สมาชิกอาเซียนไปดำเนินกระบวนการภายในประเทศของตนให้เสร็จก่อนเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับในช่วงการประชุมเดือนก.ย.2562 ที่กรุงเทพฯ

          ทั้งนี้อาเซียนยังได้หารือเพื่อเตรียมส่งคณะผู้แทนอาเซียนด้านเศรษฐกิจไปเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อหาข้อมูลและทำความเข้าใจนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต เพื่อประกอบการประเมินการขอสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต และตกลงที่จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจไปประจำที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มีมติให้ส่งผู้แทนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม ไปประจำการ โดยปัจจุบันด้านเศรษฐกิจมีเพียงสิงคโปร์ และสปป.ลาว ยังเหลืออีก 8 ประเทศ รวมทั้งไทย ที่จะต้องส่งคนไปประจำ ตั้งเป้าให้ครบ 10 ประเทศในปีนี้

          ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) พบปะหารือกับ SEOMเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเตรียมการก่อนที่จะเปิดโอกาสให้มีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน โดยปีนี้คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน-อังอุบลกุล เป็นประธาน AWEN จึงจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทมากขึ้น เพราะในอาเซียนประชากร 50.2% เป็นสตรี และมีผู้ประกอบการสตรี 30-35% ของผู้ประกอบการในอาเซียน และต้องเพิ่มบทบาทสตรีในการทำธุรกิจ เช่น พัฒนาทักษะของผู้ประกอบการสตรีขนาดเล็กและย่อย (MSMEs) การรับมือเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) การใช้ประโยชน์จาก Big Data และการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ประกอบการสตรีรายย่อย เป็นต้น

          ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่อาเซียนได้ติดตาม และมีความคืบหน้า เช่น การจัดทำระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งดำเนินการสำเร็จแล้ว และพร้อมใช้ในเดือนมี.ค.2563 จะช่วยอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีของอาเซียนด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป , การจัดทำระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ (ASW) , การรับรองหลักการเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกอาเซียนปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องกัน และการตกลงที่จะทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 8 ปี ให้ทันสมัยสามารถรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้า