ครึ่งปีอีอีซี คึกคัก 7.4หมื่นล้าน 251โรงงานขนเงินลงทุนขยายกิจการ

07 ก.ค. 2562 | 23:10 น.

นักลงทุนแห่ลงทุนในอีอีซี กรอ.เผยยอดขอประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงาน ช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าลงทุนพุ่ง 7.39 หมื่นล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ยังครองการลงทุนสูงสุด ตามด้วยกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ คาดทั้งปีทะลุ 1 แสนล้านบาท

การดำเนินงานในการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี กว่า 2 ปี ที่ผ่านมา เริ่มส่งผลให้เห็นความเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่คาดว่าจะมีการลงนามร่วมทุนกับภาคเอกชนได้เร็วสุดในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้

ทั้งนี้ เห็นได้จากยอดขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานในอีอีซี ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าเติบโตค่อนข้างมาก โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 มียอดขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานรวมกันจำนวน 251 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนราว 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับทั้งปี 2561 มีจำนวน 56 โรงงาน เงินลงทุน 66,792 ล้านบาท

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า การขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 251 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 73,992 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน 13,231 คน แยกเป็นขอประกอบกิจการใหม่ จำนวน 193 โรงงาน เงินลงทุน 37,424 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 8,957 คน ขอขยายกิจการโรงงาน จำนวน 58 โรงงาน เงินลงทุน 36,568 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 4,274 คน

ครึ่งปีอีอีซี คึกคัก 7.4หมื่นล้าน 251โรงงานขนเงินลงทุนขยายกิจการ

สำหรับการขอตั้งโรงงานใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก จำนวน 37 โรงงาน แต่เงินลงทุนไม่มากนักอยู่ที่ 1,260.7 ล้านบาท แต่หากพิจารณาจากยอดเงินลงทุนที่สูงสุดจะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม จำนวน 7 โรงงาน เงินลงทุน 15,441 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 7 โรงงาน เงินลงทุน 12,347 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 29 โรงงาน เงินลงทุน 1,787 ล้านบาท กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 22 โรงงาน เงินลงทุน 1,504 ล้านบาท

ขณะที่การขอขยายกิจการโรงงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 18 โรงงาน เงินลงทุน 2,299 ล้านบาท แต่เงินลงทุนสูงสุดจะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม จำนวน 2 โรงงาน เงินลงทุน 21,723 ล้านบาท รองลงมาเป็น กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ จำนวน 4 โรงงาน เงินลงทุน 4,417 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมาพิจารณาเป็นรายจังหวัด จะพบว่าการขอประกอบกิจการใหม่มากสุดจะอยู่ในจังหวัดชลบุรี มีจำนวน 105 โรงงาน เงินลงทุน 19,698 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,300 คน รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง จำนวน 54 โรงงาน เงินลงทุน 16,090 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 5,668 คน และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 34 โรงงาน เงินลงทุน 1,635 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 989 คน

ครึ่งปีอีอีซี คึกคัก 7.4หมื่นล้าน 251โรงงานขนเงินลงทุนขยายกิจการ

ส่วนการขอขยายกิจการโรงงานมากสุดจะอยู่ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 33 โรงงาน เงินลงทุน 25,310 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,914 คน รองลงมาเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 9 โรงงานเงินลงทุน 8,459 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 629 คน และจังหวัดระยอง จำนวน 16 โรงงาน เงินลงทุน 2,798 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,731 คน

นายทองชัย กล่าวอีกว่า การที่นักลงทุนเข้ามายื่นขอประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงาน เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายอีอีซี ที่ให้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายอีอีซีตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ที่จะใช้พื้นที่อีอีซีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมองว่าระยะเวลาอีก 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะมีนักลงทุนเข้ามาขอประกอบกิจการและขยายโรงงานเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าการลงทุนเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ขณะที่รวมทั่วประเทศมียอดขอในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ จำนวน 2,064 โรงงาน เงินลงทุน 195,688 ล้านบาท 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3485 ระหว่างวันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2562

ครึ่งปีอีอีซี คึกคัก 7.4หมื่นล้าน 251โรงงานขนเงินลงทุนขยายกิจการ