ส.พิทักษ์สัตว์ฯ เอาจริงโดดป้องทารุณสัตว์!!

11 ก.ค. 2562 | 06:20 น.

สัตว์ก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของมนุษย์เกี่ยวพันกับมนุษย์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ หรือที่นำมาเลี้ยงดูจนกลายเป็นสัตว์อยู่ตามบ้าน นอกจากนี้มนุษย์ยังได้อาศัยการแอบอิงเอาประโยชน์จากสัตว์หลายประการ ทั้งเป็นอาหาร ใช้งาน เพื่อความบันเทิง ตลอดจนการทดลองต่าง ๆ ทำให้การปฏิบัติต่อสัตว์ในหลายกรณีกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทารุณกรรม เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์จนเกินความพอดีไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการละเลยสวัสดิภาพที่สัตว์เลี้ยงพึงจะได้รับ

จากความสำคัญดังกล่าวและเพื่อแสดงออกถึงความชัดเจนในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ทางสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) จึงแถลงข่าวโดยมีนายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นางโศรยา บุนนาค นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) และนายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคม คณะกรรมการสมาคมฯและผู้เกี่ยวข้องร่วมพูดคุยถึง วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ ความเป็นมาในการช่วยเหลือสัตว์ของสมาคม 

ส.พิทักษ์สัตว์ฯ เอาจริงโดดป้องทารุณสัตว์!!

“โรเจอร์ โลหะนันท์” เลขาธิการสมาคม หรือ ผู้ก่อตั้งสมาคม เล่าว่า สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 มีวัตถุประสงค์หลักเสริมสร้างสำนึกแห่งความเมตตาให้สังคมเห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์และรณรงค์
สอดส่องป้องกันแก้ไขปัญหาสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ โดยสันติวิธีด้วยการจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์พร้อมกับเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ให้สาธารณชนได้รับทราบ ที่สำคัญหนึ่งในนั้นคือฟันเฟืองที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิด “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์”

ในอดีต “สัตว์” เป็นเพียงแค่ “ทรัพย์” ของมนุษย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น หากมีผู้ใดทำให้เสียหาย เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ เป็นการกระทำต่อสัตว์ของตนเอง หรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งในวันนี้แม้มีกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องของลักษณะการทารุณกรรม มีลักษณะใหม่ๆเกิดขึ้นเพื่อหลบหลีกข้อกฎหมาย อาทิ การใช้ไฟฟ้าช็อต ใช้แรงดันฉีด ซึ่งทางคุณโรเจอร์ให้ความเห็นว่า ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ เนื่องจากกฎหมายลำดับรอง ในเรื่อง “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ยังไม่มีประกาศใช้ ประชาชนเลยเข้าใจกฎหมายเพียงมิติเดียว

ในมุมมองของต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการออกกฎหมาย Act to Prevent the Cruel And Improper Treatment of Cattle of
1822 และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือ Animal Welfare Act 2006 ซึ่งมีการเน้นหนักทั้งในด้านของการปฏิบัติต่อสัตว์การจัดสวัสดิภาพของสัตว์ให้เหมาะสม ส่วนทางด้านของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศ
อื่นๆ รวมทั้งภาคพื้นยุโรปก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมาย การให้ความสนใจรับรู้และคุ้มครองสิทธิของสัตว์จึงเป็นกระแสโลกที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ส.พิทักษ์สัตว์ฯ เอาจริงโดดป้องทารุณสัตว์!!

ด้านนางโศรยา บุนนาค นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) บอกว่า การดำเนินงานของสมาคมยังเข้มข้นในเรื่องสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยของสาธารณชน ทั้งหน่วยคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัข ด้วยรถพยาบาลสัตว์พร้อมทีมสัตวแพทย์ รวมทั้งจัดหน่วยกู้ภัยสัตว์ เพื่อช่วยเหลือคนและสัตว์ที่ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยที่เกี่ยวกับสัตว์ 

คลินิกพิทักษ์สัตว์ บริการตรวจรักษาและทำหมันสัตว์เลี้ยง ให้สาธารณชนสามารถรับผิดชอบสุขภาพสัตว์ได้ง่ายขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมสวัสดิภาพและควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยง ด้านภาควิชาการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์แก่สาธารณชน ทั้งในด้านวิชาการและด้านกฎหมาย รวมถึงการประชุม การสัมมนา การรณรงค์ และประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ฉะนั้นแม้กฎหมายจะให้ “สิทธิ” ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง แต่ต้องมาพร้อมกับ “หน้าที่และความรับผิดชอบด้วย” สังคมจะอยู่ร่วมกันทั้งมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างปกติสุขตลอดไป

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,485 วันที่ 7 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ส.พิทักษ์สัตว์ฯ เอาจริงโดดป้องทารุณสัตว์!!