พาณิชย์ลดเป้าเงินเฟ้อ ตามแนวโน้มราคาน้ำมัน

01 ก.ค. 2562 | 08:58 น.

พาณิชย์ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 62 ลง เหลือ1%  จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% ตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มหดตัวลง ยืนยันยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ)  เดือนมิถุนายน 2562  เท่ากับ 102.94  สูงขึ้น  0.87%   ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  ของปี 2562  ซึ่งเดือนก่อนหน้าสูงขึ้น  1.15%   สำหรับปัจจัย ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสด  สูงถึง  6.35%  โดยเฉพาะ  ผัก  ผลไม้  ข้าวสาร  เนื้อสุกร   ส่วนปัจจัยลบที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว  คือ  ราคาพลังงานที่หดอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2  ของปี  โดยลดลง  3.86%  ตามการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

สำหรับปัจจัยที่กระทบเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  สูงขึ้น  3.12%   โดยผักและผลไม้เป็นปัจจัยสำคัญ  สูงขึ้น  18.89 %   เช่น  พริกสด  มะนาว  กะหล่ำปลี  ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดสลับกับฝนตกทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย  ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาผัก ผลไม้ฐานราคาต่ำ  ส่วนเนื้อสัตว์  เป็ด  ไก่  และสัตว์น้ำ  สูงขึ้น  4.41%   เนื้อสุกรปริมาณออกสู่ตลาดน้อย  ขณะที่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นเยอะรวมไปถึงความต้องการก็มีเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตกลับน้อยกว่าจึงมีผลต่อราคาสินค้าสูงขึ้น

ส่วนหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง   0.40%  ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร  1.58%    โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง  ลดลง  6.26%  การสื่อสารลดลง  0.03%   หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า  ลดลง  0.18%  ขณะที่  ค่าโดยสาร  สูงขึ้น  5.87%  ทั้ง  ค่าโดยสารรถ ขสมก.  ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด  ส่วนหมวดเคหสถาน  เช่น  ค่าไฟ  ค่าเช่าบ้าน  สูงขึ้น  0.32%  หมวดการตรวจรักษาและการบริการส่วนบุคคล  สูงขึ้น  0.12%  เป็นต้น

ทั้งนี้  ดัชนีราคาผู้บริโภค  เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม  2562  ลดลง  0.36%  และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย  6  เดือนแรกของปี  2562  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  สูงขึ้น  0.92%  อย่างไรก็ดี  การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเดือนนี้ปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงจามสถานการณ์ในตลาดโลก  เนื่องจากได้รับผลกะทบจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง  ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลดตัว  ขณะที่สินค้าอาหารสดเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญซึ่งราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นสำคัญ

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 422 รายการ พบว่า มีสินค้าปรับสูงขึ้น 151 รายการเมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา อาทิ  ทุเรียน  พริกสด  ข้าวสารเหนียว  ไข่ไก่  เนื้อสุกร  ฝรั่ง  เงาะ  มะเขือเทศ  ส้มเขียวหวาน สินค้าลดลง  101  รายการเมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา  เช่น  แก๊สโซฮอลล์ 91  น้ำมันดีเซล  แก๊สโซฮอล์  95  แก๊สโซฮอล์  อี  20  น้ำมันเบนซิน  95  มะนาว  ถั่วฝักยาว  มะเขือ  ต้นหอม  และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา  170  รายการ

ทั้งนี้  คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2562  อยู่ในกรอบ  0.7-1.3%  หรือเฉลี่ยค่ากลางทั้งปีอยู่ที่ 1.0%  จากเดิมที่คาดการณ์อยู่ในกรอบ  0.7-1.7%  เฉลี่ยค่ากลางทั้งปี  1.2%  โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อหลักมาจากปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจ  ขณะที่  สมมติฐานหลักที่ใช้ในการประเมินเงินเฟ้อทั้งปีโดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่  3.3-3.8%  ราคาน้ำมันดิบดูไบ  60-70  เหลือสหรัฐต่อบาร์เรล  และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่  31-32  บาทต่อเหรียญสหรัฐ  และหากจะให้เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1%  เงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 3  เฉลี่ย  1%  และไตรมาส  4  เงินเฟ้อเปลี่ยน  1.2%