สงครามการค้า ขนมเค้กที่ชิ้นเล็กลง แต่เราต้องทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมากขึ้น

19 มิ.ย. 2562 | 05:00 น.

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ, ศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ และ ASEAN-India Centre แห่งสถาบันคลังสมอง Research Information System for Developing Countries กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียได้จัดวงเสวนาพิเศษในหัวข้อ Asean Integration: Emerging Trends and Challenges เนื่องในวาระโอกาสเปิดตัววารสารวิชาการ Journal of Asian Economic Integration วารสารวิชาการ คุณภาพสูงที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ระดับนานาชาติ SAGE

ในวงเสวนานี้เราได้รับเกียรติจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ แห่งศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ; รองศาสตราจารย์ ดร.จาริต ติงศภัทิย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาฯ; Professor PrabirDe ผู้อำนวยการ ASEAN-India Centre; Dr.Mia Mikic, ผู้อำนวยการ Trade, Investment and Innovation Division แห่ง UN-ESCAP และ ดร.วิธาดา อนุกุลวรรธกะ นักเศรษฐศาสตร์ประจำ UN-ESCAP มาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อให้นิสิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้เข้ารับฟังการเสวนา สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวงเสวนาโดยเฉพาะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้าสามารถสรุปได้ดังนี้

ความท้าทาย 3 ประการที่เรากำลังเผชิญหน้า ได้แก่

สงครามการค้า  ขนมเค้กที่ชิ้นเล็กลง แต่เราต้องทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมากขึ้น

1. สถานการณ์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากยุคทศวรรษ 1990 ที่ทั้งโลกกำลังอยู่ในกระแสการค้าเสรี ปัจจุบันการรวมกลุ่มเกิดขึ้นทั้งในมิติเชิงกว้าง (จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น) และมิติเชิงลึก (ครอบคลุมมิติต่างๆ ในการเจรจาสร้างความร่วมมือ) ทำให้เราต้องการทาง ออกใหม่ให้กับปัญหาในบริบทใหม่ โดยเฉพาะในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง

2. สถานการณ์สงครามการค้าในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะขยายตัวลุกลามและสร้างความตึงเครียดให้กับการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ดังนั้นทางออกจากปัญหานี้คงไม่ได้มาโดยง่าย สงครามการค้าเป็นเพียงหนึ่งในการออกอาวุธในมหาสงครามเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ทุกประเทศต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง

และ 3. ปัจจัยที่มิใช่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านสังคม-วัฒนธรรม และการมองปัญหาให้ครบแบบภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจจะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายทางด้านการค้าของแต่ละประเทศ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการหวังผลทางการเมืองเพื่อชนะการเลือกตั้งในยุคที่มหาชนกำลังนิยมผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจมีภาวะอำนาจนิยมอยู่ในตัวผู้นำ

ความย้อนแย้งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ภาคธุรกิจของทุกประเทศต้องการเข้าถึงตลาดของประเทศจีน แต่ภาครัฐของมหาอำนาจกลับต้องการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ดังนั้นเราต้องหาจุดสมดุลในความย้อนแย้งทั้ง 2 ประการนี้ให้ได้เพื่อหาทางออกในบริบทใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก

ผู้ร่วมวงเสวนามองเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบันคือ ทำให้เวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปรียบเสมือนขนมเค้กที่ชิ้นเล็กลง ผลประโยชน์จากการค้า (Gains from Trade อาทิ การเข้าถึงสินค้าและบริการที่ราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น และหลากหลายมากยิ่งขึ้น) จะลดลงในระดับโลก

แต่นี่อาจจะกลายเป็นโอกาสสำหรับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย ประเทศไทยเราเองก็อาจจะมีส่วนแบ่งที่มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถเพิ่มแต้มต่อและความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทยได้คือ

สงครามการค้า  ขนมเค้กที่ชิ้นเล็กลง แต่เราต้องทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมากขึ้น

1. การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และนั่นหมายถึง ประชาคมอาเซียน และความร่วมมือต่างๆ ในระดับอนุภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น Greater Mekong Sub-region (GMS) และ Bey of Bengal Initiative for Multi-Sectoral and Economic Cooperation (BIMSTEC) ประชาคมอาเซียนเรียนรู้จากสหภาพยุโรปแต่จำเป็นต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของอาเซียน เราต้องเรียนรู้จากอดีตและไม่ทำผิดพลาดซํ้ารอยอดีต

 

2. การสร้างสิ่งแวดล้อมทาง การค้าและการลงทุนภายในประเทศให้มีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs), โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทาง การค้าคือ งานสำคัญที่ต้องเร่งเดินหน้า

3. มองหาโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ที่ยังมีศักยภาพและยังไม่มีผู้เข้าไปทำการค้ามากนัก โดยเฉพาะตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนภาคพื้นทวีป (CLMVT) ตลาดเอเชียใต้ (อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา)

4.นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจ ในขณะเดียวกันก็ใช้การรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างแต้มต่อเพิ่มอำนาจต่อรอง คือเครื่องมือสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

5.และต้องไม่ลืมเสมอว่า การ บูรณาการเศรษฐกิจ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เกิดขึ้นและสร้างทั้งประโยชน์และต้นทุนให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในประเทศเสมอ ดังนั้นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการกระจายผลประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนได้รับอย่างเป็นธรรม (Inclusive) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3480 ระหว่างวันที่ 20 - 22 มิถุนายน 2562

สงครามการค้า  ขนมเค้กที่ชิ้นเล็กลง แต่เราต้องทำให้ไทยมีส่วนแบ่งมากขึ้น