พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

16 พ.ค. 2562 | 04:15 น.

ช่วงสำคัญที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมาระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ได้ผ่านไปแล้ว แต่ยังมีพระราชพิธีที่สำคัญอีกครั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ คือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็น “พระราชพิธีเบื้องปลาย” ของการบรมราชาภิเษก โดยเริ่มจากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง ๔ องค์ และเรือพระราชพิธี ๔๘ ลำ ใช้ฝีพายจำนวน ๒,๒๐๐ นาย และจะมีการเห่เรือตลอดเส้นทาง ระยะทาง ๔ กิโลเมตร

พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก  มีแผ่นดินที่ติดกับชายฝั่งทะเลถึง ๒ ด้าน การเดินทางติดต่อค้าขายตั้งแต่ครั้งโบราณ ใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ  โดยเฉพาะในช่วงสมัยอยุธยานั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นทั้งเมืองท่า ตลาดการค้า เป็นแหล่งซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าในระดับภูมิภาค จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรือมีบทบาททั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง ตามประเพณีทางพุทธศาสนา ในเดือน ๘ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ในประเทศไทยพุทธศาสนิกชนจัดการทำบุญที่สำคัญ เรียกว่า ทอดกฐิน ด้วยเหตุที่ในสมัยโบราณ ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกสบายมากนัก บ้านเรือน วัดวาอาราม  จึงมักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง และใช้เรือในการเดินทางสัญจรไปมา การไปทำบุญทอดกฐินโดยทางน้ำ  จึงจัดเป็นขบวนใหญ่ มีการตกแต่งเรือในริ้วขบวนให้สวยงาม พระมหากษัตริย์ของไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและองค์ศาสนูปถัมภก  การบำเพ็ญพระราชกุศลทอดผ้าพระกฐิน ที่เสด็จ ฯ ไปโดยขบวนเรือทางน้ำ เรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” จัดริ้วขบวนเรืออย่างยิ่งใหญ่ เป็นประจำทุกปี ด้วยเรือที่ใช้ในพระราชพิธี มีความงดงาม ยิ่งใหญ่ อันแสดงถึงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย

พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นอกจากใช้กระบวนพยุหยาตราในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินแล้ว ยังใช้ในการพระราชพิธี อื่นๆ ที่สำคัญเช่น พระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ พระราชพิธีรับราชทูตจากต่างแดน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น ดังที่มีหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราและเรือพระราชพิธี  ปรากฏในพงศาวดาร เอกสารโบราณ บันทึกจดหมายเหตุของไทยและบันทึกของชาวต่างชาติ มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดให้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งใหญ่ ในคราวฉลองพระนคร ครบ ๑๕๐ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ จากนั้นได้ว่างเว้นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปเป็นเวลานาน

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชดำริให้รื้อฟื้นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯบรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเรือพระราชพิธี ณ โรงเก็บเรือพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๕ และได้ทอดพระเนตรเห็น
เรืออยู่ในสภาพชำรุด และเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นเป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ได้จัดกระบวนพยุหยาตราและขบวนเรือพระราชพิธีแล้วถึง ๑๗ ครั้ง  

สำหรับกระบวนพยุหยาตราทั้งทางชลมารคและทางสถลมารค  เป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์  การจัดกระบวนพยุหยาตรานี้  กล่าวได้ว่ามีการวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพ ซึ่งการจัดกระบวนเหล่านี้จะกระทำในระหว่างที่ว่างจากการศึกสงคราม  ทั้งนี้  เมื่อว่างเว้นจากศึกสงคราม ได้ใช้การจัดกระบวนพยุหยาตราเป็นการฝึกซ้อมการเรียกระดมพล และสร้างความสนุกเพลิดเพลินให้แก่ไพร่พลในกองทัพไปในคราวเดียวกัน   การจัดกระบวนพยุหยาตราเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นที่สรรเสริญ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่และพระบารมีอันแผ่ไพศาลของพระเจ้าแผ่นดินแก่อาณาประชาราษฎร์  และชาวต่างชาติผู้ที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกด้วย

 

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ กระบวนพยุหยาตราชลมารค

กระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ  โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย  มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ “กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ดังปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา

พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่างๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะ การเห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค

สมัยเริ่มแรกของกระบวนเรือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการแห่พระกฐินในอดีต หน้าวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร  ซึ่งการเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้นมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชา ๑) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค  พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์  อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ  แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ หรือเสด็จฯไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม  ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่  ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น ๔ สาย แล้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ลำ

ระหว่างการเคลื่อนกระบวน ก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

มาในยุคสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุดแต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงครามโดยมีการแห่เรือสำคัญ คือ ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา  มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนากระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง ๑๑๕ ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน ๒๔๖ ลำ

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก ๖๗ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ ในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาอีก รัชกาลที่ ๒ จำนวน ๒ ลำ รัชกาลที่ ๓ จำนวน  ๒๔ ลำ รัชกาลที่ ๔ จำนวน ๗ ลำ รัชกาลที่ ๕ จำนวน ๑ ลำ รัชกาลที่ ๖ จำนว ๒ ลำ จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรืออีกจนถึงรัชกาลที่ ๙ จึงได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 

พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เนื่องในโอกาสกาญจนาภิเษก ดังนั้น เรือที่สำคัญๆ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ ๖ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖

ในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระที่นั่งที่ปากคลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นจึงมีการซ่อมแซมเรือและโอนเรือพระราชพิธี ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง ซึ่งกองทัพเรือเก็บรักษาไว้

ในรัชกาลที่ ๙  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก  สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯบรมนาถบพิตร ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง

สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และพิธีสำคัญต่างๆ สำหรับงานเอเปก ๒๐๐๓ และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี นั้น เป็นเพียงการสาธิตแห่กระบวนเรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯบรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในกระบวน

พระราชพิธีเบื้องปลาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในรัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งแรก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒  

คาดว่าเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าวเหล่าพสกนิกรผู้ภักดี ต้องรอชื่นชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นเหมือนเช่นทุกครั้ง

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,469 วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562