อุปทานน้ำมันโลกตึงตัว-ราคาจ่อพุ่ง หลังมะกันเพิ่มระดับแซงค์ชั่นอิหร่าน

03 พ.ค. 2562 | 10:15 น.

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 พ.ค. 2562) เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกข้อยกเว้นชั่วคราวที่อนุญาตให้ 8 ประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันจากประเทศอิหร่านได้ในปริมาณจำกัด โดยเป้าหมายของการออกข้อยกเว้นชั่วคราวก็เพื่อป้องกันไม่ให้อุปทานน้ำมันโลกลดลงอย่างปุบปับฉับพลันซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูง แต่เมื่อระยะยกเว้นสิ้นสุดลง หลายฝ่ายก็พากันจับตาว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบีย จะออกมาช่วยแก้ปัญหาในแง่อุปทานน้ำมันอย่างไร และอิหร่านจะมีวิธีการใดในการนำน้ำมันดิบออกสู่ตลาด

 

มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านของสหรัฐฯนั้น เป้าหมายก็เพื่อกดดันประเทศคู่อริอย่างอิหร่านไม่ให้สามารถส่งออกน้ำมันที่เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักๆเข้าประเทศ แต่ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็ได้ผลักดันตลาดน้ำมันโลกเข้าสู่สภาวะไร้ทิศทางและมีแต่ความไม่แน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนและบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดหวังว่า สหรัฐฯจะพิจารณาทบทวนและขยายระยะเวลาของการยกเว้นทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เวลา 8 ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เช่น จีน อินเดีย ตุรกี ฯลฯ ค่อยๆปรับตัวด้วยการลดปริมาณนำเข้าจากอิหร่านและหาแหล่งนำเข้าน้ำมันจากที่อื่น        

อุปทานน้ำมันโลกตึงตัว-ราคาจ่อพุ่ง หลังมะกันเพิ่มระดับแซงค์ชั่นอิหร่าน

แต่สำหรับท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการยุติระยะยกเว้นโดยสิ้นเชิงนั้นคาดว่าจะเป็นการทำให้น้ำมันดิบของอิหร่านที่ส่งออกหายไปจากตลาดเป็นปริมาณมากหรือแทบจะทั้งหมด สถิติชี้ว่าอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบคิดเป็นปริมาณกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับประมาณ 1% ของความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนและป้องกันราคาไม่ให้พุ่งแรง รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พยายามเจรจาหว่านล้อมทางซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯและเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆของโลกให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียไม่ได้ตกปากรับคำและยืนกรานข้อตกลงของโอเปกกับพันธมิตรที่จะขยายเวลาทุกๆ 6 เดือนสำหรับการจำกัดการส่งออกน้ำมัน ซึ่งท่าทีของซาอุฯดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลว่าตลาดน้ำมันโลกกำลังเข้าสู่ภาวะอุปทานตึงตัวและราคาพุ่งทะยาน     

 

ราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดรอบ 6 เดือน

เฮลิมา ครอฟท์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์โภคภัณฑ์ บริษัทวิจัย อาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ตส์ ให้ความเห็นว่า อุปทานน้ำมันในตลาดกำลังลดลง เมื่อประจวบกับการที่สหรัฐฯยกเลิกระยะยกเว้นให้กับมติคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่าน นั่นก็เท่ากับว่าอำนาจในการพยุงราคาน้ำมันได้ถูกหยิบยื่นให้กับซาอุดิอาระเบียว่าพร้อมจะเปิดก๊อกปล่อยน้ำมันดิบออกสู่ตลาดมากหรือน้อยเพียงใด   

 

นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะยกเลิกการยกเว้นชั่วคราวให้กับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่าน ราคาน้ำมันดิบได้ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ทำสถิติที่ 75.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 66.60 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่อยู่ในระดับ 71 ดอลลาร์และ 62 ดอลลาร์/บาร์เรลตามลำดับ

อุปทานน้ำมันโลกตึงตัว-ราคาจ่อพุ่ง หลังมะกันเพิ่มระดับแซงค์ชั่นอิหร่าน

ตลาดน้ำมันตึงตัวยิ่งเพิ่มความเสี่ยง

โดยการคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่านอย่างเข้มงวดมากขึ้นเหมือนที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่นี้ เพียงมาตรการเดียวอาจจะไม่ทำให้เกิดภาวะ supply shock หรือการที่ปริมาณน้ำมันหายออกไปจากตลาดอย่างฉับพลันซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อราคา แต่มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวก็จะทำให้ตลาดมีความอ่อนไหวต่อการเกิดภาวะน้ำมันขาดตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ และหากเป็นเช่นนั้นราคาก็จะขยับสูงขึ้น

 

นักวิเคราะห์มองว่า ภาวะน้ำมันล้นตลาดที่เกิดขึ้นมาช่วงก่อนหน้านี้กำลังจะสิ้นสุดลงเมื่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันเริ่มปรับสู่สภาพสมดุล นักวิเคราะห์บางสำนักมองว่าตลาดน้ำมันกำลังเข้าสู่สภาวะอุปทานต่ำกว่าอุปสงค์เล็กน้อยด้วยซ้ำ เนื่องจากมีหลายเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นและสร้างผลกระทบต่ออุปทาน เช่นการที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของบริษัท PDVSA จากเวเนซุเอลา ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาดิ่งลงทันที หรือในประเทศลิเบีย ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศได้รับผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงให้กับอุปทานน้ำมัน อีกประเทศที่กำลังมีปัญหาคือ ไนจีเรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา กำลังมีวิกฤติไฟฟ้าดับเป็นระยะ  ในยุโรปเองก็มีปัญหากับน้ำมันปนเปื้อนที่ส่งออกมาตามท่อน้ำมันจากรัสเซีย ทำให้ปริมาณน้ำมันที่จะส่งป้อนให้กับโรงกลั่นในยุโรปต้องพบกับภาวะชะงักงัน 

 

ขณะเดียวกัน โอเปกและพันธมิตรรวมถึงรัสเซีย ก็พยายามควบคุมปริมาณน้ำมันในตลาดโดยจะลดการส่งออกให้น้อยลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน   

 

ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่านในเดือนพฤศจิกายน2561โอเปกและพันธมิตรเพิ่งเพิ่มกำลังการผลิต แต่เมื่อสหรัฐฯคว่ำบาตรอิหร่านโดยมีข้อยกเว้นให้บางประเทศสามารถนำเข้าจากอิหร่านได้ชั่วคราวจนกว่าสหรัฐฯจะมีประกาศยกเลิก ปริมาณน้ำมันที่เข้าสู่ตลาดจึงมากเกินคาดและทำให้ราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าปรับร่วงลง โดยราคาน้ำมันเบรนท์ของฝั่งยุโรปหล่นจาก 86 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับเพียง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทำให้โอเปกต้องเรียกประชุมลงมติหั่นกำลังการผลิตลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

นายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย แกนนำกลุ่มโอเปก เปิดเผยว่า ราคาที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ในเกณฑ์ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล  มติลดกำลังการผลิตของโอเปกที่ใช้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ปัจจุบัน ซาอุฯ ยังผลิตน้ำมันดิบในปริมาณต่ำกว่าโควต้าที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงของโอเปกราวๆ 500,000 บาร์เรล/วัน จึงยังมีโอกาสเพิ่มกำลังผลิตได้อีก

 

รายงานข่าวระบุว่า ในระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2562 โอเปกจะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อพิจารณาว่าจะขยายอายุข้อตกลงดังกล่าว

อุปทานน้ำมันโลกตึงตัว-ราคาจ่อพุ่ง หลังมะกันเพิ่มระดับแซงค์ชั่นอิหร่าน