ทุนทีวีดิจิทัลดิ้นต่อชีวิต

11 พ.ค. 2562 | 04:49 น.

5 ปีทีวีดิจิทัล เดินหน้าฝ่ามรสุม ทุนหาย กำไรหด จับตา 3 บิ๊กบรอดแคสติ้งจ่อคืนใบอนุญาตหลังคสช. คลอด ม. 44 พร้อมพลิกแพลตฟอร์มเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ผ่าน “โฮมช็อปปิ้ง”

การเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ที่ถูกมองว่าจะเป็นการยกระดับบรอดแคสติ้งเมืองไทยให้มีเสรี ทันสมัย เป็นสากล ทั้งด้านระบบความคมชัด และคอนเทนต์ และเป็นไปตามกรอบระยะเวลาในการยุติของกลุ่มประเทศ สมาชิกอาเซียน ที่จะยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก ในระหว่างปี 2558-2563 การเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่จะเริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมประมูลในปลายปี 2556 และได้ผู้ประกอบ การทั้ง 24 ช่อง ด้วยวงเงินประมูลกว่า 50,862 ล้านบาท

จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล ก็เพื่อรองรับมัลติมีเดียใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตไม่ว่าจะเป็น Interactive, VDO-on-Demand, Mobile TV, Smart TV, Internet TV ฯลฯ ซึ่งวันนี้ มัลติมีเดียต่างๆ ที่ว่า ก็ก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตคนไทยครบถ้วน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากผู้ให้บริการต่างชาติ ที่เข้ามาเสิร์ฟความบันเทิงถึงหน้าจอมือถือ หน้าจอโทรทัศน์ในบ้านเรา แต่ดูเหมือนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเอง ที่ยังหาทางออกไม่ได้ ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านโดยเฉพาะด้าน “รายได้” ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

การคาดการณ์ที่เคยมองว่ามูลค่า เม็ดเงินในสื่อโฆษณาทีวีจะเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขหลักแสนล้านบาท กลับไม่ใช่ เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่มีทีวีดิจิทัลเม็ดเงินในสื่อโฆษณาทีวียังมีวนเวียนอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาทเช่นเดิม แม้จะ มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นก็ไม่ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สวนทางกลับที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้เล่นมาก เท่าไร แต่เม็ดเงินโฆษณาทีวียังคงกระจุก ตัวอยู่ในช่องที่มีเรตติ้งอันดับต้นๆ

โดยนายนวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.โมโน เทคโนโลยีและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอด คาสท์ จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้การแข่งขันของตลาดทีวีดิจิทัลเริ่มนิ่ง และรายได้โฆษณาที่เข้ามายังคงเป็นช่องทีวีที่มีเรตติ้งติดอันดับ 1 ใน 5 เช่นเดียวกับในอดีต ขณะเดียวกันมองว่ารายได้โฆษณาที่เข้ามายังคงอิงกับเรตติ้งเป็นหลัก

ทุนทีวีดิจิทัลดิ้นต่อชีวิต

โฮมช็อปปิ้งช่องทางทำเงิน

ดังนั้นอีก 17 ช่องที่เหลือจะนั่งรอรายได้จากโฆษณาเข้าจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ จึงเลือกปรับกลยุทธ์ด้วยการหันสร้างโอกาสทำเงินในแพลต ฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะ “ทีวีช็อปปิ้ง” หรือ “โฮมช็อปปิ้ง” ซึ่งค่ายอาร์เอส ผู้บริหารทีวีดิจิทัลช่อง 8 เริ่มขยับตัวและชิงสร้างตลาดก่อนจนทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ พร้อมผันตัวเองสู่ธุรกิจพาณิชย์เต็มรูปแบบ และตั้งเป้าทำรายได้สู่หมื่นล้านในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นต้นแบบที่วันนี้ “โฮมช็อปปิ้ง” แบรนด์ดังๆ ก็กระจายไปยึดแอร์ไทม์ของช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จเกือบทุกช่อง รวมถึงช่องเรตติ้งดีๆ อย่างช่อง 3HD (ช่อง 33), เวิร์คพอยท์ทีวี (ช่อง 23), โมโน 29 เป็นต้น

5 ปีเต็มกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัล ท่ามกลางปัญหามากมาย และหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ การใช้มาตรา 44 ช่วยปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเดินหน้าต่อได้ การประกาศใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 11 เมษายน 2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตและยืดระยะเวลาชำระค่างวดได้ จึงเป็นเหมือนของขวัญในวาระครบรอบ 5 ปี

3 กลุ่มจ่อคืนช่อง

ขณะที่ผู้ประกอบการหลายช่องยืนยันว่า จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของมาตรการเยียวยา ที่กสทช. จะชดเชยกลับคืนมาว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะอนาคตแม้จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตในงวดที่ 5 และ 6 แต่ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาคอนเทนต์ ระบบเทคโนโลยี รวมถึงการตลาด ที่มูลค่าเกินหลักพันล้านบาทอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้น ผนวกกับเงินชดเชย จะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องลงทุนต่อไปหรือไม่

“ผู้ประกอบการที่มีช่องเดียว จะสามารถบาลานซ์ต้นทุนได้ดีกว่า แต่คนที่มีหลายช่องที่ผ่านมาต้องแบกภาระเยอะ เมื่อเทียบกับรายได้ ที่เข้ามา ดังนั้นเชื่อว่าจะมีหลายช่องที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตไม่ว่าจะเป็นช่องในกลุ่มมาลีนนท์ , อสมท, รวมถึงเครือเนชั่น อย่าง สปริง 26 หรือช่อง นาว ขณะที่ช่องไบรท์ทีวี ยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ”

สอดรับกับนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาอสมท มีเป้าหมายปรับ Positioning ให้ชัด รวมทั้งต้องตัดภาระต้นทุนให้ตํ่าลง ขณะเดียวกันต้องพิจารณาต้นทุนต่างๆให้คุ้มค่า อาทิ ใบอนุญาต คอนเทนต์ บุคลากร อยู่ในขีดที่สามารถทำกำไรได้หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะมีการตัดบางส่วนออกไป หรือลดสัดส่วนการประกอบธุรกิจสื่อ เช่น โทรทัศน์ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ วิทยุเท่าไร ซึ่งบริษัทมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ สิ่งไหนที่ไม่ทำเงินก็ต้องถูกลดความสำคัญลงไป หรือตัดออก 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3467 ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2562

ทุนทีวีดิจิทัลดิ้นต่อชีวิต