เร่งสกัดหนี้ครัวเรือน

29 เม.ย. 2562 | 05:25 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.2562

 

 

เร่งสกัดหนี้ครัวเรือน

 

          วันที่ 30 เมษายน 2562 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเปิดเผยผลการวิจัย “พลวัตหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา” จากข้อมูลเครดิตบูโร และข้อเท็จจริงที่ได้จาก BOT-Nielsen Household Financial Survey ที่ถือเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาระยะยาวของไทย เพราะถ้าดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยเทียบต่างประเทศ พบว่าหนี้ส่วนใหญ่ของต่างประเทศอยู่ในสินเชื่อที่อยู่อาศัย ต่างกับหนี้ครัวเรือนของไทยที่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. ออกมาส่งสัญญาณหลายครั้งว่า ธปท.จะออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

          ล่าสุดตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 อยู่ที่ 12.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล แต่ปัญหาใหญ่ของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคือ เมื่อออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งมาแล้ว คนจะย้ายอีกช่องทางหนึ่งไปอีกช่องทางหนึ่ง และสถาบันการเงินเองก็จะหาแนวทางแข่งขันกับช่องทางใหม่ๆ จึงถือเป็นโจทย์ยากและท้าทายอย่างมากสำหรับธปท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

          อย่างไรก็ตาม หากดูจากหลายประเทศในขณะนี้ได้นำมาตรการกำหนดระดับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio (DSR) มาใช้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น มาเลเซีย นำ DSR มาใช้กับสินเชื่อทุกประเภทที่ปล่อยกู้กับครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูง ขณะที่ฮ่องกง ซึ่งมีปัญหาฟองสบู่ในราคาอสังหาริมทรัพย์ ได้นำมาตรการ DSR มาใช้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ ส่วนประเทศไทย ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธปท.ก็เคยได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะนำมาตรการ DSR มาใช้ แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ไม่ได้ใช้แพร่หลายในไทย อย่างสินเชื่อรถยนต์ ผู้ปล่อยกู้ดูเรื่องหลักประกันเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ดูถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นตัวตั้ง

          หลักการของมาตรการ DSR คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินจะกำหนดไม่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้ที่มีระดับ DSR สูงเกินกว่าระดับที่กำหนด เช่น การกำหนดระดับ DSR ของผู้กู้ที่ไม่เกิน 60% หมายความว่าผู้กู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 100 บาทต่อเดือน และมีหนี้ที่ต้องจ่ายเกินกว่า 60 บาทต่อเดือนแล้ว จะไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินได้อีก แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ไม่ได้ใช้แพร่หลายในไทย อย่างสินเชื่อรถยนต์ ผู้ปล่อยกู้ดูเรื่องหลักประกันเป็นตัวตั้ง แทนที่จะดูความสามารถในการชำระหนี้ จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธปท.ต้องเร่งสร้างความชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลุกลามไปมากกว่านี้