เสริมเทคโนโลยี "โลจิสติกส์" สู้ดิสรัปต์

15 เม.ย. 2562 | 00:05 น.


"ธุรกิจโลจิสติกส์" กำลังเผชิญกับ 5 ความท้าทายยุคดิสรัปชัน 'นอสตร้า' แนะผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยี "เทเลเมทริกซ์ - IoT - บิ๊กดาต้า - คลาวด์" เพิ่มประสิทธิภาพจัดการ ลดต้นทุน

นางสาวปิยวดี หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจีฯ ผู้ให้บริการระบบ "นอสตร้า โลจิสติกส์" เปิดเผยว่า ในยุคสมรภูมิดิสรัปชันธุรกิจโลจิสติกส์กำลังเผชิญกับ 5 ความท้าทาย จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและรูปแบบธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น 5 ความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ ประกอบไปด้วย 1.การลดต้นทุนการขนส่ง เทคโนโลยีและข้อมูลกำลังมีบทบาทเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการบริหารจัดการงานขนส่งและกลุ่มรถในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ประโยชน์ที่เห็นชัดเจน คือ องค์กรที่สามารถบริหารจัดการต้นทุน การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และวางแผนงานจัดส่งสินค้าและบริหารบุคลากร เพื่อลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองต่าง ๆ

 

เสริมเทคโนโลยี "โลจิสติกส์" สู้ดิสรัปต์

 

2.การบริหารจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล เทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งได้เกือบ 100% ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทขนส่งหลายแห่งให้ความสนใจและเริ่มนำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์ (Telematics) ไปทดลองใช้ในการจัดการงานขนส่ง โดยเทเลเมติกส์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สื่อสารระหว่างรถขนส่งสินค้าและผู้ควบคุมงานจัดส่ง สามารถรับและส่งข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีอื่นร่วมด้วย เช่น อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things), คลาวด์ เซอร์วิส และวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เพื่อการรับ-ส่งข้อมูลการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในแบบเรียล ไทม์

3.การให้บริการพิเศษเฉพาะเซ็กเมนต์ หรือ บริการตามความต้องการเฉพาะ (Customized Services) ธุรกิจแต่ละประเภทมีความต้องการ หรือ ความมุ่งเน้นของลูกค้าแตกต่างกัน เทคโนโลยีจึงต้องสามารถพัฒนาและต่อยอดเพื่อให้ตรงตามความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาของธุรกิจแต่ละประเภทได้ จีไอเอสได้มีการออกแบบโซลูชันที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรือ การทำงานของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น โซลูชันสำหรับองค์กรที่มีรถรับ-ส่งพนักงาน ที่เรียกว่า Bus on Mobile Service (BOMs)

4.การบริหารบุคลากร เทคโนโลยีจะมาช่วยบริหารจัดการเวลาทำงานของบุคลากร เช่น พนักงานขับรถต้องขับต่อเนื่องไม่เกิน 4 ชั่วโมง ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงานของรถรับส่งพนักงาน คือ องค์กรมีเครื่องมือที่ใช้สื่อสารเพื่อการจัดบริการรถพนักงาน สามารถติดตามรถได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ และ 5.การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังต่าง ๆ จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ตั้งแต่ปี 2559 ที่ภาครัฐมีโครงการมั่นใจทั่วไทยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ติดตั้งระบบ GPS Tracking



หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3461 ระหว่างวันที่ 14-17 เมษายน 2562
 

เสริมเทคโนโลยี "โลจิสติกส์" สู้ดิสรัปต์