ดึงเงินขายนํ้าอ้อยช่วยชาวไร่ สอน.ปลดล็อกแก้ปัญหากู้เงินลดต้นทุนการผลิตเกษตรกร

27 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมชงครม.แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ค.นี้ เสนอปลดล็อกให้นำน้ำอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้ หวังนำรายได้ที่ขายน้ำอ้อยมาแบ่งให้กับเกษตรกร แก้ปัญหาการเรียกร้องเงินช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตจากรัฐบาลปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายปีนี้กู้อีก 1.6 หมื่นล้านบาท ช่วยต้นทุนการปลูกอ้อย

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสนอ.ได้จัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับไปพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้รัฐบาลลดภาระในการกู้เงินมาอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย จากการเรียกร้องของชาวไร่อ้อย ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราตันละ 160 บาท คิดเป็นวงเงิน 1.695 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ก็ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอัตราที่ใกล้เคียงกันอีก หากยังปล่อยในลักษณะนี้ต่อไป จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สะสมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิตลง ไม่ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือต้นทุนการผลิตทุกปีสำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามแผนนั้น ในระยะแรกได้เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้ แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการแบ่งปันผลประโยชน์กับทางโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำอ้อยที่จำหน่ายออกไป จะมีการนำไปเทียบเคียงเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ และกำหนดเป็นราคาอ้างอิงของน้ำตาลทรายที่ส่งออก ซึ่งปัจจุบันโรงงานน้ำตาลที่ใช้น้ำอ้อยนำไปผลิตเป็นเอทานอลไม่ได้ คิดรายได้ส่วนนี้นำเข้าระบบ หรือนำมาแบ่งให้กับชาวไร่อ้อย ดังนั้น เมื่อปลดล็อกในส่วนนี้ได้แล้ว จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกส่วนหนึ่งส่วนในระยะยาวนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะนำรายได้จากส่วนต่างๆ ของโรงงานน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าจากชานอ้อย โรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และโรงงานปุ๋ย นำรายได้กลับเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงของหลายฝ่ายที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะช่วยรักษาเสถียรภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้ดีขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดการนำเงินของกองทุนปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เก็บจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท ไปจ่ายหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ที่กู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่

ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีเงินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่มีหนี้ที่ค้างชำระอยู่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560 อีกทั้ง ในปีนี้จะต้องกู้มาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่อีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นประกาศอยู่ที่ 808 บาทต่อตัน ในขณะที่ชาวไร่ได้ประเมินต้นทุนอยู่ที่ 1.126 พันบาทต่อตัน จึงขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในอัตรา 160 บาทต่อตัน ดังนั้น เมื่อรวมในส่วนที่ต้องกู้ใหม่จะทำให้ กองทุนมีหนี้เพิ่มเป็นประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น หากแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใช้ได้ผล ก็จะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาเรียกร้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของกองทุนที่จะมีเงินไหลเข้ามา เพื่อนำไปใช้สำหรับรักษาเสถียรภาพราคาอ้อยและน้ำตาลทราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559