ผู้แทน 11 ประเทศร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย

23 มี.ค. 2562 | 07:21 น.

กกต.แจงผู้แทน 11 ประเทศ 145 คน ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง 62 ให้เชื่อมั่นการเลือกตั้ง-มั่นใจในรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น 

วันนี้(23 มี.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีผู้แทนองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการเลือกตั้งของไทยและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ 

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ ว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางที่จะต้องจัดการเลือกตั้งทุกระดับ อีกทั้งส่งเสริมเผยแพร่ระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นสถาบันที่แข็งแกร่งและทำให้แน่ใจว่า การเลือกตั้งจะมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้ประเทศไทยมาถึงจุดที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง โดยความแข็งแกร่งของประเทศขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย การออกเสียงประชาชน และคุณภาพของผู้แทนที่ประชาชนเลือก 

ผู้แทน 11 ประเทศร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย
 

 

"ไม่มีพิมพ์เขียวในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศจะมีรูปแบบของตัวเองเพื่อให้เหมาะกับประเทศตัวเอง ซึ่ง กกต.ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างปาฏิหาริย์ในสังคม แต่ได้รับมอบหมายให้จัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งต้องอาศัยประชาชน และภาคส่วนร่วมมือกัน รวมทั้งพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งจะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้การแข่งขันในการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสร้างค่านิยมให้คนแยกได้ระหว่างคนดีและคนไม่ได้ และหวังว่าคนดีจะได้รับคัดเลือกจากคุณสมบัติและความซื่อสัตย์ของตน"นายเลิศวิโรจน์กล่าว

ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวว่า การเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง และสร้างความเข้าใจในระบอบการปกครองของประเทศไทย รวมถึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง และเชื่อมั่นในรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง

ผู้แทน 11 ประเทศร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย

สำหรับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ มีตัวแทนจากองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ เข้าร่วม 11 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 1 องค์กร ได้แก่ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐ อินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สาธารณรัฐสังคมนิยมเสียดนาม และ International IDEA(องค์การระหว่างประเทศ) 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแบ่งการสังเกตการณ์การเลือกตั้งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ กกต.มีหนังสือเชิญร่วมโครงการฯ ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศที่มาร่วมรับฟังการชี้แจงในวันนี้ รวมทั้งสิ้น 42 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้นำองค์กรร่วมสังเกตการณ์ 

อาทิ H.E.Mr.Arief Ubaid ประธาน กกต.อินโดนีเซีย, H.E.Mr.U Hla Thein ประธาน กกต.เมียนมาร์, Mr.U Than Htay กกต.เมียนมาร์, H.E.Mr.Alcino de Araujo Baris ประธาน กกต.ติมอร์-เลสเต, H.E. Mr.Joaquim Amaral เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเตประจำประเทศไทย เป็นต้น โดยผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้จะลงพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พร้อมกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของ กกต.ไทย ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค.นี้

ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีหนังสือถึง กกต. เพื่อขออนุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยตนเอง ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร คือ สหภาพยุโรป (อียู) และเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) รวมทั้งสิ้นจำนวน 145 คน ซึ่งจะลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยตนเอง