"นักวิชาการ" แนะสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เปลี่ยนวิธีคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

18 มี.ค. 2562 | 08:34 น.

นักวิชาการชี้! ปัญหาแท้จริงของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ความยากจน แต่ขาดวิธีคิด ส่งผลประชาชนยากจนและเหลื่อมล้ำ ภารกิจมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ต้องเข้าไปเสริมด้านความรู้และช่วยเหลือ
 

รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์

รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สถาบันราชภัฏเกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้านในเรื่องการให้ความรู้และให้การศึกษากับท้องถิ่น โดยมีคณาจารย์ให้คำแนะนำ เชื่อว่า 80% ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นลูกหลานของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ขณะนี้ ราชภัฏฯ มียุทธศาสตร์ 20 ปี ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้าน คือ ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาท้องถิ่น

สิ่งที่ราชภัฏฯ ร่วมมือกับรัฐบาลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือ การทำเรื่องร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน เกือบครึ่งชีวิตของตนอยู่กับท้องถิ่น แต่ถามกลับว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ทำไมชาวบ้านจึงยากจน มีความเหลื่อมล้ำและไม่มีการพัฒนา ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ความยากจน แต่มีปัญหาที่วิธีคิด ถ้าประชาชนเปลี่ยนวิธีคิดได้ โดยมหาวิทยาลัยมาช่วยเหลือและเป็นเสาหลักด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดชีวิตจะดีขึ้น มหาวิทยาลัยจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ถ้าคิดไม่ออกให้ไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกมหาวิทยาลัยยินดีให้ความช่วยเหลือ

รศ.ดร.ธนสุวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาแท้จริงที่พบจากการไปสัมผัสกับกองทุนหมู่บ้าน คือ การไม่เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีมุมมองและวิธีคิดที่ไปไกลมาก ซึ่งที่ค้นพบ คือ ถ้าเรามีปัญญา มีวิธีคิด โดยมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องวิชาการ ก็สามารถเดินต่อไปได้ ยกตัวอย่าง กลไกที่จะไปช่วยขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน เรื่องร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนมีการรวมตัวกัน ถ้าสมมติร้านค้ากองทุนหมู่บ้านที่มี 20,000 ร้านค้า มีดอกมีผล แล้วส่งต่อให้ชุมชนจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

"เคล็ดลับของการมีวิธีคิดคือวิถีและวิธี กลุ่มนักวิชาการต้องเข้าใจวิถีชุมชนและสามารถดึงจุดเด่นเข้ามาได้สามารถเปลี่ยนมุมมอง โดยคิดนิดหนึ่งกองทุนจะรวยได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่สำเร็จ"


"นักวิชาการ" แนะสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เปลี่ยนวิธีคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น