จีน-สหรัฐฯร่าง MOU 6 ฉบับเสนอที่ประชุมซัมมิทยุติขัดแย้งปลายมี.ค.

27 ก.พ. 2562 | 04:01 น.
แนวโน้มเป็นไปในเชิงบวกเมื่อคณะเจรจาของจีนและสหรัฐอเมริกา สร้างความคืบหน้าในการคลี่คลายปมขัดแย้งทางการค้าในการพบปะหารือกันครั้งที่ 4 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นคณะเจรจาระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายได้พบกันมาแล้ว 2 ครั้งที่ปักกิ่งและ 1 ครั้งที่วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งฝ่ายจีนนำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯนำโดยนายโรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้า (ยูเอสทีอาร์) ร่วมด้วยนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง

[caption id="attachment_395039" align="aligncenter" width="340"] TP12-3448-1 คลิกที่ภาพเพื่อขยาย[/caption]

แม้ยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนักแต่แนวโน้มที่ดีดังกล่าวได้รับการตอกยํ้าโดยทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 ก.พ.62) ที่ระบุว่า สหรัฐฯสร้างความคืบหน้า “อย่างมาก” ในการเจรจาการค้ากับจีนในประเด็นที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายโอนเทคโนโลยี การค้าสินค้าเกษตร การค้าภาคบริการ เสถียรภาพค่าเงิน และประเด็นอื่นๆ ซึ่งผลของการเจรจาที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญนี้ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเลื่อนกำหนดเส้นตายของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะปรับขึ้นหลังวันที่ 1 มีนาคมนี้ ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด โดยเขาและประธานาธิบดีสิ จิ้นผิง ของจีนจะพบกันเพื่อสรุปข้อตกลงที่สนามกอล์ฟมาร์-อา-ลาโก (ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของตระกูลทรัมป์) ในมลรัฐฟลอริดา ปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาข้อเสนอของคณะเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะมีขึ้นและให้ข้อสรุปว่า เห็นด้วยกับข้อตกลงที่คณะทำงานนำเสนอหรือไม่ ทั้งนี้ ล่าสุดมีการพูดถึงบันทึกความเข้าใจ (MOU) 6 ฉบับที่คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันร่างขึ้น (ดังภาพประกอบ)

[caption id="attachment_395042" align="aligncenter" width="503"] negotiators คณะผู้นำการเจรจาฝ่ายจีนและสหรัฐฯ[/caption]

ปฏิกิริยาตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับข่าวดีนี้ในเชิงบวกเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่าแม้ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐฯจะตกลงกันได้ แต่ก็อาจจะไม่มีผลฉุดรั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นแล้วเป็นวงจรแห่งการชะลอตัว นายพอล คิทนีย์ หัวหน้านักวางกลยุทธ์หลักทรัพย์ บริษัท ไดวา แคปปิตอล มาร์เก็ตฯ ตั้งข้อสังเกตว่า วงจรเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยในปี 2562 นี้เราจะได้เห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพียงเล็กน้อย ขณะที่ความเสี่ยงจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือ recession ในสหรัฐฯนั้นก็มีมากขึ้นและเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นราวช่วงกลางปีหน้า (2563) “วงจรขาลงยังไม่หนีหายไปง่ายๆ แม้ว่าหลายประเด็นจะคลี่คลายไปในทางบวกมากขึ้น เช่นการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการเจรจาเบร็กซิท (การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ)” สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะขยายตัวในอัตราลดลงเหลือเพียง 3.5% จากที่เคยขยายตัว 3.7% ในปี 2561 นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index) ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยังสะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆอย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ขณะที่หลายประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าก็ยังมีการขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าในอัตราที่ลดน้อยลง

[caption id="attachment_395041" align="aligncenter" width="503"] Xi-Trump การพบกันระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐฯที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561[/caption]

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้สหรัฐฯจะชะลอหรือระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนระลอกใหม่ แต่ภาษีชุดเดิมที่ขึ้นไปแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีผลอยู่และยังไม่ได้มีการปรับลดลงมาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯที่เชื่อว่าไม่น่าจะแก้ไขได้ในเวลาอันใกล้นี้ เช่นเรื่องการกีดกันทางด้านเทคโนโลยีและกรณีที่สหรัฐฯพยายามสกัดกั้นการแผ่ขยายเครือข่าย 5G ของหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน ในตลาดโลก ดังนั้นในเร็วๆ นี้ จึงเป็นไปได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ในบางประเด็น เช่นการสั่งซื้อสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯมากขึ้น (โดยฝ่ายจีน) แต่จากนั้นก็ยังคงต้องเดินหน้าเจรจาหารือกันต่อไปเพื่อคลี่คลายประเด็นร้อนที่แก้ได้ยากกว่า

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3448 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2562

595959859