ตลาดรถเดือนก.พ. ติดลบ 11.3% ด้านส่งออกมูลค่าโต 13.95%

23 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
ยอดขายรถก.พ. หดตัว 11.3% หวังมี.ค.ตลาดฟื้นหลังได้รับอานิสงค์รถรุ่นใหม่และงานมอเตอร์โชว์ ด้านตลาดส่งออกได้ผลบวกจากรถพีพีวี กระตุ้นมูลค่าสูงขึ้นแม้จำนวนคันลดลง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้ครึ่งปีหลังตลาดอาจจะฟื้นตัว แต่ยังหวั่นปัจจัยลบด้านภัยแล้ง-ราคาพืชผลและศก.โลกที่ชะลอตัว

หอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ รายงานตัวเลขการขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่ามีจำนวน 56,705 คัน ลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 63,949 คัน อย่างไรก็ตามยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์เติบโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ขายได้ 51,534 คัน และเมื่อแบ่งออกเป็นบริษัทต่างๆพบว่าโตโยต้า มียอดขาย 15,569 คัน ลดลง 30.9 % ,อีซูซุ มียอดขาย 12,171 คัน เพิ่มขึ้น 3.5% ,ฮอนด้า มียอดขาย 8,063 คัน ลดลง 8.3% ,มิตซูบิชิ มียอดขาย 4,865 คัน เพิ่มขึ้น 12.5% ,นิสสัน มียอดขาย 3,602 คัน ลดลง 25.0% , มาสด้า มียอดขาย 3,542 คัน เพิ่มขึ้น 33.0% , ฟอร์ด มียอดขาย 2,799 คัน เพิ่มขึ้น 24.5% , ซูซูกิ มียอดขาย 1,557 คัน ลดลง 13.6% , และเชฟโรเลต มียอดขาย 1,060 คัน ลดลง 23.0%

ส่วนตัวเลขการขายเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2559 ทำได้ 108,239 คัน ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 123,670 คัน โดยโตโยต้า มียอดขาย 29,412 คัน ลดลง 31.0 % ,อีซูซุ มียอดขาย 23,215 คัน เพิ่มขึ้น 1.1% ,ฮอนด้า มียอดขาย 13,676 คัน ลดลง27.6% ,มิตซูบิชิ มียอดขาย 9,665 คัน เพิ่มขึ้น 15.7% ,นิสสัน มียอดขาย 7,853 คัน ลดลง 11.3% , มาสด้า มียอดขาย 7,033 คัน เพิ่มขึ้น 30.0% , ฟอร์ด มียอดขาย 5,373 คัน เพิ่มขึ้น 27.1% , ซูซูกิ มียอดขาย 3,173 คัน เพิ่มขึ้น 9.0% , และเชฟโรเลต มียอดขาย 2,202 คัน ลดลง 18.2%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าตัวเลขการขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงถือว่าเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาลูกค้าตัดสินใจซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการประกาศราคาตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามบริษัทรถยนต์บางค่ายได้มีการตรึงราคาเดิมไว้ ก็ทำให้ลูกค้าบางส่วนมีการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้ยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม และในเดือนมีนาคมก็มีการประเมินว่าตัวเลขการขายจะเติบโต ทั้งนี้เพราะมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ ที่แต่ละบริษัทจะมีการงัดกลยุทธ์ทางการตลาดและแคมเปญออกมาแข่งขันกัน

"ยอดขายในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาล้นทะลัก เพราะลูกค้าแห่จองเนื่องจากกังวลว่าราคารถจะปรับขึ้น โดยเฉพาะรถในกลุ่มพีพีวีและเอสยูวี อย่างไรก็ตามเราจะเห็นว่าบางบริษัทไม่มีการปรับขึ้น หรือขึ้นเล็กน้อย ก็ทำให้ลูกค้าที่ลังเลอยู่ กล้าตัดสินใจซื้อ โดยเราประเมินว่ายอดขายในเดือนมีนาคมจะสูงกว่าเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่เดือนเมษายนอาจจะต่ำกว่าเนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายวัน ส่งผลให้วันทำงานน้อย ก็อาจจะกระทบกับการขายส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามคาดว่าในครึ่งปีหลังตลาดน่าจะฟื้นตัว เพราะมีการลงทุนจากภาครัฐเกี่ยวกับโครงการต่างๆแต่ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นกังวลอีกประการหนึ่งคือภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่จะกระทบทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ"

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกรถยนต์พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 104,712 คัน ลดลง 3.2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่แล้วส่งรถอีโคคาร์ไปยุโรปมากกว่าปีนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 55,635.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา 14.43% โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกรถพีพีวีมากขึ้นถึง 136% และยอดผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ในเซ็กเมนต์นี้มากขึ้นจากปีที่แล้วถึง 122%

ขณะที่เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 3,774.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 60.25% ,ด้านชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 15,017.11 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 4.43% ,อะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 1,975.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12.17% เมื่อรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 76,402.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 11.62%

ด้านตัวเลขของเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 198,426 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.09% แต่มีมูลค่าการส่งออก 106,217.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 18.32%

ขณะที่เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 7,351.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 47.13% , ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 28,407.84 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 4.5% อะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 3,574.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 11.12% เมื่อรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 145,551.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็น 13.95%

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากรถยนต์ที่ส่งไปอยู่ในกลุ่มพีพีวี ที่มีมูลค่าสูงกว่ารถอีโคคาร์ โดยประเมินว่าทิศทางการส่งออกหลังจากนี้ยังคงดีเพราะมีรถรุ่นใหม่ๆที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาด ขณะที่การส่งออกรถปิกอัพในปีนี้คาดว่าจะเสมอตัว ไม่เติบโตและไม่ลดลงไปกว่านี้ แต่สำหรับรถอีโคคาร์และรถยนต์นั่งคาดว่าจะลดลง เนื่องจากปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือมีคำสั่งซื้อไปแล้วจำนวนมาก ทำให้ปีนี้อาจจะแผ่วลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่ดีขึ้น ดังจะเห็นจากการที่ธนาคารโลกมีการปรับลดจีดีพีเหลือ 2.9% จากเดิมที่ประกาศไว้ 3.3% ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกรถของไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,141 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2559