ยุคใหม่ "รถยนต์ไฟฟ้า" ดันไทยเป็นฮับแบตเตอรี่โลก

08 ก.พ. 2562 | 06:48 น.
ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในช่วง 1- 3 ปีนี้ จะถูกจับตามองไม่น้อย เนื่องจากภาครัฐได้วางเป้าหมายในปี 2564 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคัน จากเป้าดังกล่าวจะถูกผลักดันด้วยนโยบายสนับสนุนการลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle), ปลั๊กอิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และบีอีวี (Battery Electric Vehicle)

ในปีที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายค่าย ทั้งรายใหญ่ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มาสด้า บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ็มจี หรือรายเล็กอย่าง ฟอมม์ ที่ได้รับการอนุมัติการลงทุน รวมถึงอีกหลายค่ายที่ได้ยื่นใบสมัครขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ

นอกจากการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์แล้ว ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ในปีที่ผ่านมา บีโอไอก็ได้อนุมัติให้ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในการตั้งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 3,000 หัวจ่าย พร้อมโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยมูลค่าโครงการ 1,092 ล้านบาท และอีกรายที่ได้รับการอนุมัติ คือ บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 542 ล้านบาท (ป้อนบีเอ็มดับเบิลยู) เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า


MP28-3442-A-

"ปลายปีที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติการลงทุนให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 2 ราย ไม่นับรวมค่ายรถยนต์ที่มีการยื่นขอผลิตแบตเตอรี่อย่างโตโยต้า และรายอื่น ๆ ที่ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนตามหลักซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา เหมือนดังอดีตที่ผ่านมา ที่ได้สนับสนุนรถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน" นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว

สำหรับการสนับสนุนที่เกิดขึ้น มิใช่เพียงแค่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ซัพพลายเชน หรือ อุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ ที่ไทยมีโอกาสจะส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ในอนาคต

"ด้วยเงื่อนไขที่รัฐวางไว้ หากผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพิ่มขึ้น ถือเป็นการชักจูงให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น และในอนาคตก็จะมีโอกาสในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตรงจุดนี้ถือว่านโยบายถูกต้องและถูกทาง" นายสุรพงษ์ กล่าว

ปัจจุบัน ฐานการผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกอยู่ที่จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งหากไทยเดินหน้าในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็ว โอกาสของแบตเตอรี่ที่จะขยายตัวตามความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า ในปี 2566 ไทยจะสามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 4.3 แสนลูก แบ่งออกเป็น การป้อนตลาดในประเทศ 2.6 แสนลูก ซึ่งจะป้อนให้ผู้ผลิต (OEM) 2.4 แสนลูก และป้อนให้กับตลาดทดแทนเพื่อเป็นอะไหล่ (REM) 2 หมื่นลูก และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 1.7 แสนลูก

ส่วนประเทศที่จะทำการส่งออกไปนั้น ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น เนื่องจากมีการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นได้วางประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกอยู่แล้ว ประกอบกับการมีข้อตกลงทางการค้าเสรี JTEPA ทำให้ได้ประโยชน์ทางด้านภาษีระหว่างกัน


บาร์ไลน์ฐาน

ตลาดที่มีโอกาสส่งออกต่อมา คือ โอเชียเนีย และอาเซียนบางประเทศ อาทิ สิงค์โปร์ และมาเลเซีย ซึ่งประชากรมีระดับรายได้ต่อหัวสูงและรับรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จิ้ง

นอกจากนั้นแล้ว จีนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไทยมีโอกาสจะส่งออกแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูง และค่ายรถยุโรปได้ตั้งไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นเพื่อส่งไปยังตลาดในจีน อีกทั้งไทยยังมีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรี ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา

ด้าน ตลาดยุโรปถือว่ามีโอกาส แต่เป็นตลาดที่ต้องแข่งขันสูง เพราะปัจจุบันมีการเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และไทยไม่มีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

แนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ไทยจะเป็นผู้นำด้านฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย รวมถึงฐานการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียในอนาคต นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนในชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในระยะข้างหน้าของไทยอาจจะขยายรวมไปถึงการลงทุนในชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา


➣ EV เมืองไทยมีกี่คัน

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำโดย นายกสมาคม ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ทำสรุปสถานการณ์ของยานยนต์ไฟฟ้าในไทยปี 2561 ทั้งในแง่การขาย ยอดสะสม แบ่งเป็น อีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า


• ยานยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) มีจำนวนสะสม 1,454 คัน ประกอบด้วย

- รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,100 คัน

- รถยนต์ 201 คัน

- รถโดยสารไฟฟ้า 85 คัน

- รถสามล้อไฟฟ้า 58 คัน


• รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด หรือ Plug-in Hybrid EV (PHEV) ประมาณ 10,000 คัน

• สถานีอัดประจุไฟฟ้าประมาณ 220 สถานี (1 สถานี มีอย่างน้อย 1 หัวจ่าย)

• ปี 2561 ยานยนต์ไฟฟ้า BEV เติบโต 97% เมื่อเทียบกับปี 2560


ขณะที่ การเปิดตัวรถในกลุ่มนี้ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่างเป็นทางการ มีทั้งนิสสัน ลีฟ (1.99 ล้านบาท), ฮุนได ไอออนิก (1.749 ล้านบาท), เกีย โซล อีวี (2.297 ล้านบาท), บีวายดี อี6 (ทำแท็กซี่ ราคา 1.89 ล้านบาท) และแบรนด์น้องใหม่ ฟอมม์ (6.64 แสนบาท)

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,442 วันที่  7 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

595959859