'เกาหลี' ไม่เชื่อมั่นไทย! ใช้สิทธิ FTA บุกตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าถึงระยอง ก่อนไฟเขียว "ผ่าน"

04 ก.พ. 2562 | 11:56 น.
ศุลกากรแดนกิมจิบุกไทย! ตรวจเข้มถิ่นกำเนิดสินค้าถึงโรงงานระยอง หลังสงสัยทำไม่ได้ตามกฎเอฟทีเอ สุดท้ายถึงบางอ้อ ไฟเขียวผ่านฉลุย คต. ส่งสัญญาณเอกชนทำให้ถูกต้องในทุกกรอบข้อตกลง ช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออก ปี 61 ไทยขาดดุลเกาหลี 1.3 แสนล้าน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า ทางกรมการค้าต่างประเทศและศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลี (KCS) ได้เดินทางไปตรวจสอบย้อนหลัง (Post Verification) การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการที่ จ.ระยอง เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยได้มีการชี้แจงข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AK (เอฟทีเออาเซียน-เกาหลี) มีความคลาดเคลื่อนหลายครั้ง จึงทำให้เกิดความสงสัยและขอตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฎว่า ผู้ประกอบการสามารถแสดงข้อมูลการผลิตสินค้าได้ครบถ้วนตามที่ศุลกากรเกาหลีร้องขอและไม่ติดใจในกระบวนการผลิตของไทย ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังเกาหลีได้สะดวกมากขึ้น

สำหรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี กำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถใช้ได้ 2 เกณฑ์ คือ (1) เกณฑ์ % RVC ไม่น้อยกว่า 40% คือ มีมูลค่าการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หรือในภูมิภาคอาเซียน ไม่น้อยกว่า 40% และ (2) เกณฑ์ CTH คือ มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าที่มีพิกัดศุลกากรแตกต่างจากสินค้าที่ส่งออกในระดับ 4 หลัก

 

[caption id="attachment_384357" align="aligncenter" width="503"] นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์[/caption]

อย่างไรก็ดี แนวทางการตรวจสอบย้อนหลังของศุลกากรของเกาหลีจะตรวจตามเกณฑ์ที่ระบุใน Form AK โดยกรณีที่ต้องมาตรวจสอบโรงงานดังกล่าว จากผู้ประกอบการไทยได้ระบุเกณฑ์ % RVC ทำให้ศุลกากรเกาหลีต้องตรวจสอบหลักฐานเอกสารอย่างละเอียด เช่น รายการวัตถุดิบ (Bill of Materials : BOM) ใบเสร็จในการซื้อวัตถุดิบ รายการต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้า ใบขนสินค้าขาออก Bill of Lading (B/L) รายชื่อลูกค้า สัญญาซื้อขายสินค้ากับลูกค้า เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมเอกสารมากและใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน

ในเรื่องนี้ กรมมีข้อแนะนำว่า หากผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้ถิ่นกำเนิดไทย โดยผ่านทั้ง 2 เกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะระบุเกณฑ์ CTH ลงใน Form เพื่อให้สะดวกต่อการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า โดยไม่ต้องคำนวณ % RVC ตามราคา FOB ที่เปลี่ยนแปลงทุกชิปเม้นต์ และต้องเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทั้งหมดไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนหลังจากศุลกากรประเทศปลายทางหรือของกรม


090861-1927-9-335x503

"ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เช่น อาเซียน จีน เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น กรมฯ มีระบบอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ตรวจต้นทุน ว่า ได้ถิ่นกำเนิดไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการตรวจต้นทุนเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละความตกลง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะต้องมีการตรวจต้นทุนด้วยตนเองในทุกชิปเม้นต์ และต้องเก็บหลักฐานเอกสารการได้มาของวัตถุดิบ รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อรองรับกรณีการขอตรวจสอบในภายหลังจากหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้า หรือ จากกรมการค้าต่างประเทศ

อนึ่ง ในปี 2561 การค้าไทย-เกาหลีใต้ มีมูลค่ารวม 4.44 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 1.56 แสนล้านบาท นำเข้า 2.88 แสนล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าเกาหลี 1.31 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขาดดุล 1.16 แสนล้านบาท) โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยนำเข้าจากเกาหลี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วน 55% ของการนำเข้าโดยรวมของไทยจากเกาหลี

595959859