"ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" ตั้งเป้าปี 62 โตก้าวกระโดด

30 ม.ค. 2562 | 06:59 น.
"ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" เผยแผนธุรกิจปี 2562 ตั้งเป้ารายได้ และส่วนแบ่งกำไรเติบโตกว่า 70% ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ เล็งขยายพื้นที่อาคารคลังสินค้าระดับพรีเมียมอีก 200,000 ตร.ม. และขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT อีก 5,750 ล้านบาท ขายที่ดิน 1,600 ไร่ เพิ่มการผลิตน้ำ 120 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 570 เมกะวัตต์ และเร่งปรับโฉมทุกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2562 และต่อจากนี้ ทิศทางกลยุทธ์ของ "ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" จะเน้นไปที่การยกระดับธุรกิจหลัก การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือกับผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกฝ่าย ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจของ "ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์อีก 200,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยเพิ่มจำนวนพื้นที่ในครอบครองและภายใต้การบริหารจัดการของ "ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" รวมทั้งสิ้น 2,500,000 ตร.ม. และขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT อีก 5,750 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์จะเน้นไปที่การแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทและผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าจากนโยบายของภาครัฐ โดยเน้นไปที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การบินและอากาศยาน ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าที่สูงยิ่งขึ้น โดยอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเข้ามาช่วย


609263822

"วัตถุประสงค์เพื่อขยายพื้นที่ภายใต้การครอบครองและบริหารจัดการที่มีอยู่ จำนวน 2,300,000 ตร.ม. เป็น 2,500,000 ตร.ม. และยังมีโครงการที่เตรียมดำเนินการก่อสร้างในปี 2562 ได้แก่ โครงการดับบลิวเอชเอ อี-คอมเมิร์ซพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา โครงการดับบลิวเอชเอ-เจดี อี-คอมเมิร์ซ เซ็นเตอร์ และโครงการดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง 2 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ยังมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV โดยเน้นไปที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นหลัก พร้อมเดินหน้าตั้งเป้าขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT 5,750 ล้านบาท ผ่านกอง REIT ของบริษัท มูลค่า 34,300 ล้านบาท"

ด้าน กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนั้น บริษัทจะขยายการลงทุนสู่ระดับภูมิภาค ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย สู่การเป็นผู้นำในระดับอาเซียน บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานระดับโลกภายในนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอ เพื่อรับประกันถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า และในปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีนิคมฯ ที่ดำเนินการแล้วรวม 11 แห่ง โดย 10 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศไทย (ในจำนวนนี้ นิคมฯ 9 แห่ง ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)) และอีก 1 แห่ง ในประเทศเวียดนาม

"ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ มีที่ดินรวมทั้งสิ้น 68,500 ไร่ ซึ่งในปีนี้ บริษัทเตรียมที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน 2,650 ไร่ ทำให้มีที่ดินที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานและที่ดินส่วนที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 43,150 ไร่ และตั้งเป้าขายที่ดิน 1,600 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) ทั้ง 12 กลุ่ม"

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน ตั้งเป้าการผลิตและจำหน่ายน้ำที่ 120 ล้าน ลบ.ม. เล็งผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 570 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์และพลังงานทดแทน พร้อมเสริมโซลูชั่นระบบน้ำและพลังงานใหม่ ๆ แก่ลูกค้า


maxresdefault

ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เตรียมขยายบริการด้านการผลิตน้ำออกไปยังนิคมฯ อื่น ๆ ทั้งในไทยและเวียดนาม รวมถึงเสริมบริการต่าง ๆ อาทิ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตน้ำด้วยระบบรีเวอร์สออสโมสิส และน้ำอุตสาหกรรมปราศจากแร่ธาตุ นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) มาใช้สำหรับสมาร์ทวอเตอร์โซลูชั่น เฟสแรก ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ด้วย

นางสาวจรีพร กล่าวต่อไปอีกว่า ธุรกิจพลังงาน บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินตามเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านพลังงานที่ครบวงจรแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นที่พลังงานทางเลือกเป็นหลัก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและเวียดนาม ในด้านโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะยังคงเดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับพันธมิตรในระยะยาว ได้แก่ กัลฟ์ โกลว์ และบี กริม

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับมิตซุยและโตเกียวแก๊สในด้านธุรกิจการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่จะเข้ามาเสริมเป็นบริการใหม่ สำหรับลูกค้าของ "ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" รวมถึงเป็นแหล่งรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งนี้ เทคโนโลยีและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๆ ที่ยังอยู่ภายใต้การศึกษา เช่น สมาร์ทกริด ระบบการจัดเก็บพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ และโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ

กลุ่มธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เร่งปรับโฉมทุกนิคมอุตสาหกรรมในเครือให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2562 ปัจจุบัน บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด มีดาต้าเซนเตอร์ทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งในที่นี้รวมถึงการเข้าร่วมทุนกับทางซุปเปอร์แนป ที่เป็นดาต้าเซนเตอร์ระดับเทียร์ 4 แห่งเดียวในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมออสเตรเลีย) ด้วย นอกจากนี้ยังให้บริการเทคโนโลยีไฟเบอร์ออพติก (FTTx) ใน 5 นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอ ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท มีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าและการบริการให้ครอบคลุมทุกนิคมอุตสาหกรรมภายในสิ้นปีนี้ รวมไปถึงการเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ในศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจต่าง ๆ ในเครืออีกด้วย

"เราเชื่อมั่นว่า ในปี 2562 นี้ บริษัทจะสามารถสร้างผลประกอบการที่โดดเด่นด้วยแผนงานต่าง ๆ ที่เราได้ดำเนินการมาและโครงการต่าง ๆ ในอนาคตที่เรามีอยู่ โดยคาดว่า รายได้และส่วนแบ่งกำไรจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราผลกำไรของ EBITDA อยู่ในสถานะแข็งแกร่งมากกว่า 30% ส่วนงบดุลคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุน (Interest bearing debt-to-equity) ต่ำกว่า 1.1 เท่า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้พัฒนาเติบโตอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงระดับที่เราสามารถมองไปยังอนาคตได้อย่างภาคภูมิใจและมั่นใจ เรายังมีความแข็งแกร่งและศักยภาพที่จะหาโซลูชั่นในแต่ละธุรกิจเพื่อผลักดันให้บริษัทฯ เติบโตก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ไปพร้อม ๆ กับลูกค้าของเรา พันธมิตรทางธุรกิจ และบุคลากรของเราด้วย"

นางสาวจรีพร กล่าวต่อปอีกว่า บริษัทยังคงมองสถานการณ์ในเชิงบวกแม้เศรษฐกิจโลกอาจมีการชะลอตัว โดยความจริงแล้ว ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญบางอย่างอาจพลิกเป็นโอกาสสำหรับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนทิศทางทางการค้าและการลงทุนมายังประเทศไทยและเวียดนามสำหรับอุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ขณะนี้ก็มีนักการลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุน และสนใจในนิคมอุตสาหกรรมของเราจำนวนมาก

e-book-1-503x62