กะเทาะมุมคิด คุณหมอนักลงทุน

02 ก.พ. 2562 | 04:06 น.
หากเอ่ยชื่อ “หมอบุญ” หรือ “นายแพทย์บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คงมีน้อยคนนักที่ไม่คุ้นชื่อ นายแพทย์นักลงทุนผู้นี้

นับจากวันที่ก้าวเข้าทำหน้าที่แพทย์ผู้รักษาคนป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช จนขยับขยายออกมาสู่สังเวียนของนักลงทุน ประเดิมด้วยโครงการแรกกับโรงพยาบาลธนบุรีเมื่อปี 2519 ชื่อเสียงของ “หมอบุญ” และโรงพยาบาลธนบุรีก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งโรงพยาบาลหลัก 5 แห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลในเครือ และโรงพยาบาลที่ร่วมถือหุ้นอีกจำนวนมาก

และไม่เพียงเท่านั้น คุณหมอนักลงทุนผู้นี้ ยังขยายกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ทันตกรรม รวมไปถึงร้านขายยา Apex Health Care และยังขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลไปที่ประเทศจีน และเมียนมาโดยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น การลงทุนรุกเข้าไปลงทุนในธุรกิจการซื้อขายที่ดิน การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกลุ่มของคุณหมอ ถือเป็นรายแรกของเมืองไทย ที่ลงทุนทำโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อผู้สูงวัย ชื่อ “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้” และยังมี โครงการ “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ” อาคาร B เฮลท์แคร์ คอนโดมิเนียม เจาะตลาดคนรักสุขภาพ และยังมีแผนสร้างโครงการสำหรับผู้สูงอายุอีกหนึ่งแห่งในต่างจังหวัด

pic) แม่ทัพท่านนี้ ถือเป็นหนึ่งในนักบริหารชั้นนำของประเทศไทย ที่แม้จะมีวัยขึ้นเลข 8 ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการคิดวางกลยุทธ์ หรือขยายงาน แถมยังมีวิสัยทัศน์ และหลักคิดดีๆ มากมาย ที่นักบริหารและนักลงทุนทั้งหลายควรนำมาเป็นแบบอย่าง

“การที่จะคิดลงทุนหรือทำอะไรก็ตาม ต้องเอาตัวเราเป็นหลัก ถ้าเราเป็นลูกค้า จะมาหาหมอที่นี่ไหม หรือถ้าจะเดินทางมาช็อปปิ้ง ที่แบบนี้เราจะมาหรือเปล่า ที่ตรงนี้เขาไม่มาหรอก เพราะมันไม่มีอะไรให้เดินเล่น”...คุณหมอ มองที่ความเป็นไปได้ ปัจจัยรอบด้าน ผสานเข้ากับความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง การลงทุนแต่ละครั้งจึงจะสัมฤทธิ์ผล

“หมอบุญ” พูดถึง การลงทุนล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไป กับโครงการ “โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง” บนถนนบำรุงเมือง ด้วยงบกว่า 4 พันล้านบาท โรงพยาบาลแห่งนี้หากลงทุนสร้างอาคารใหม่ ต้องใช้งบ 7-8 พันล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างอีก ไม่น้อยกว่า 4 ปี คุณหมอจึงเลือกที่จะรีโนเวตอาคารค้าปลีกเก่า ทำให้ลดงบประมาณการลงทุนได้เกือบครึ่ง และยังย่นเวลาในการปรับปรุงก่อสร้างเหลือเพียงปีเดียว

หลักคิดที่มองทะลุถึงศักยภาพของทำเลย่านบำรุงเมือง พื้นที่อยู่ใจกลางเมือง ใช้เวลาเดินทางไม่มาก หากสร้างรีเทล หรือศูนย์การค้า ทำเลลักษณะนี้ไม่เหมาะแน่นอน เพราะด้วยภูมิศาสตร์รอบด้านไม่เอื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าร้านอาหาร แหล่งช็อปปิ้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับนักช็อป เพราะฉะนั้นการสร้างโรงพยาบาลระดับไฮเอนด์ ให้บริการในสิ่งที่คนต้องการ และพร้อมที่จะเดินทางมาจ่ายด้วยความสมัครใจ แบบนี้เหมาะกว่าเยอะ และที่ “โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง” ยังเตรียมสร้างที่พักสำหรับญาติหรือผู้ติดตามของคนไข้อีกด้วย โดยแผนคือการสร้างให้เป็น “Health City” สำหรับคนรักษาสุขภาพกันเลยทีเดียว

สำหรับหลักการลงทุนของคุณหมอ คือ ลงทุนในธุรกิจที่กำไรดี ความต้องการสูง เช่น การสร้างโรงพยาบาลแห่งเดียวที่สามารถรักษาแผลเบาหวานได้ โดยไม่ต้องตัดอวัยวะใดๆ ทิ้ง เพียงแค่นี้สำหรับคนที่มีกำลังจ่าย ก็พร้อมที่จะควักเงินเข้ามารับการรักษา การสร้างโรงพยาบาลแบบทั่วๆ ไป หมดยุคไปเสียแล้ว เพราะการลงทุนสูง การบริหารก็ยาก บุคลากรก็ไม่มีรองรับ

เมื่อพูดถึงบุคลากรในวงการแพทย์ หรือวงการเฮลธ์แคร์ “หมอบุญ” ได้เตรียมพร้อมบุคลากรจำนวนมากไว้เรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่การให้ทุนเด็กไทยที่มีความสามารถในการศึกษาด้านการแพทย์ พร้อมให้ทุนเรียนภาษาก่อน 1 ปี เพราะถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับหมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน หรือการสื่อสารต่อไป นอกจากนี้ ยังสร้างศูนย์อบรมที่เมียนมา และที่ฉงชิ่ง ประเทศจีน 1 หนึ่งแห่ง ซึ่งรัฐบาลจีนให้ทุนมากว่า 5 พันล้านบาท ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สร้างและพัฒนาคน เป็นการเตรียมคนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจจริงๆ ....“ถ้าเราทำอะไรแล้วเราไม่เตรียมคน คือ เจ๊งอย่างเดียว”...นี่คือสิ่งที่คุณหมอยํ้า

“หมอบุญ” ยังมีแผนขยายการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยแนวคิดในการลงทุน ยังคงยึดหลักสำคัญตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจับธุรกิจ จนถึงวันนี้ คือ การให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” และ “หมอ” รวมทั้ง “ค่ารักษาพยาบาล” เรื่องคุณภาพและหมอที่ทำการรักษา หากทำได้ดี คนไข้ก็จะพูดปากต่อปาก เขาแฮปปี้ เขาก็จะกลับมารักษา และชวนเพื่อนมารักษาที่โรงพยาบาลอีก

“คนรวยเขามีเงิน อยากสะดวกก็ให้เขาจ่ายไป แต่คนจน อย่าให้เขาซัฟเฟอร์ เขามีเวลาอยู่กับหมอแค่ 2 นาที แต่ต้องมานั่งรอตั้งแต่ตี 4 เพราะหมอคนหนึ่ง ต้องดูแลคนไข้ 100 คนใน 3 ชม. แบบนี้ไม่ได้...เอกชนเราบังคับเลย หมอต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีในการรักษาพยาบาล แม้จะไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ต้องเกือบเท่า นั่นคือหน้าที่รัฐบาลต้องแก้ไข” คุณหมอทิ้งมุมคิดเล็กๆ ที่คนทั่วไปรับรู้ และรอวันที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลซักที

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,440 วันที่  31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503