คุม 2 แสนล้าน ตีทะเบียนจำนำรถ

28 ม.ค. 2562 | 04:48 น.
คลังจับมือ ธปท. คุมจำนำทะเบียนรถ งัด ปว.58 ออกมาบังคับใช้ หลังตลาดโตต่อเนื่อง หวั่นเอาเปรียบผู้บริโภค ยํ้า! ทุกรายต้องแจ้ง ธปท. ภายใน 60 วัน หลังประกาศลงราชกิจจาฯ ลั่น! ปล่อยกู้ทั่วประเทศ ทุนจดทะเบียนเกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ส่วนรายที่ไม่ถึง 50 ล้าน จำกัดปล่อยกู้รายจังหวัด แต่ขยายเพดานดอกเบี้ยได้ถึง 36%

ตลาดรับจำนำทะเบียนรถที่เติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง ล่าสุด ผู้ให้บริการทั่วประเทศ กว่า 1,000 ราย เป็นเงินสินเชื่อคงค้างถึง 200,000 ล้านบาท มีผู้ใช้บริการ 3 ล้านราย ทำให้กระทรวงการคลังต้องงัดประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) ออกมาบังคับใช้ หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. .... ยังค้างอยู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง : กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง : สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ครั้งสุดท้ายกับผู้ประกอบการทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 12 ต.ค. 2561 ก่อนมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 วัน


MP20-3439-A-

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงการคลัง เกรงว่า ร่างกฎหมายใหม่ที่จะเปิดทางให้ตั้งหน่วยขึ้นมากำกับดูแลผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (นอนแบงก์) ไม่สามารถนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันในรัฐบาลนี้ จึงเห็นควรที่จะใช้ ปว.58 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ยังไม่ได้ยกเลิกและมีผลครอบจักรวาล ให้มีผลบังคับใช้แทนได้ เพราะตลาดจำนำทะเบียนรถเติบโตเร็วมาก อาจจะเกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ เพราะมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

"จากนี้ก็จะใช้ ปว.58 บังคับใช้กับผู้ให้สินเชื่อทะเบียนรถทั่วประเทศ แม้ว่าตามหลักแล้ว ควรจัดหมวดหมู่ให้ ธปท. กำกับดูแลสถาบันการเงิน ส่วนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ ก็ให้หน่วยงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาตามร่างกฎหมายที่เราเสนอเข้าไปและอยู่ในชั้นกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานกำกับดูแลแทน"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับการชี้แจงหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการในหลายจังหวัดและระดับประเทศ ในวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 60 บริษัท กว่า 200 คน โดยคาดว่า ประกาศ ปว.58 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ. นี้

ทั้งนี้ ธปท. แบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ยื่นขออนุญาตผ่าน ธปท. ซึ่ง ธปท. จะใช้เวลาพิจารณา 60-90 วัน จึงจะแจ้งผล จากนั้นผู้ประกอบการต้องยื่นขอกับกระทรวงการคลัง โดย 2 หน่วยงาน จะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและได้รับใบอนุญาตสินเชื่อบุคคล ให้แจ้ง ธปท. เพื่อทราบภายใน 60 วัน และสามารถทำธุรกิจต่อได้


วจีทิพย์ ธปท.

นางวจีทิพย์ พงษ์เพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า จากนี้ไป ธปท. จะกำกับดูแลภาคธุรกิจ หรือ ผู้ประกอบการ อยู่ในกติกาเดียวกัน และช่วยให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง เพื่อใช้ตัดสินใจในการขอสินเชื่อ โดยที่การคิดดอกเบี้ยจะถูกปรับอัตราให้ลดลงมาระดับมาตรฐาน ที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

แหล่งข่าวจากภาคธุรกิจ ระบุว่า ธปท. ขยายขอบเขตสินเชื่อบุคคลทำธุรกิจระดับประเทศ โดยกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นตํ่า 50 ล้านบาท กรณีที่ทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ล้านบาท ให้เวลาภายใน 1 ปี เพื่อเพิ่มทุนให้ได้ตามเกณฑ์ แต่หากไม่สามารถเพิ่มทุนได้ จะเปิดทางเลือกให้ทำสินเชื่อพิโก ซึ่งจำกัดวงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย เฉพาะลูกค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในจังหวัดนั้น ๆ ห้ามปล่อยสินเชื่อข้ามจังหวัด โดยสามารถให้คิดดอกเบี้ยพิเศษได้ไม่เกิน 36%

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,439 วันที่  27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562

595959859