ลุ้น "ไทย-จีน-ญี่ปุ่น" แบ่งเค้กประมูล "แหลมฉบัง เฟส 3"

25 ม.ค. 2562 | 04:43 น.
แม้จะสะดุดในช่วงก้าวแรกของการเริ่มต้นประมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงินกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท โดยมีเพียงรายเดียวยื่นซองประมูล แต่กลับไม่ผ่านคุณสมบัติ ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากนักลงทุนอีกครั้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดและต้องการให้เข้ามาร่วมยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการมากขึ้น

ทั้งนี้ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังและรักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้ความชัดเจนแล้ว ที่จะเปิดให้เอกชนทั้ง 32 ราย ยื่นซองเอกสารประกวดราคากันใหม่ พร้อมกับขยายระยะเวลาการเตรียมเอกสารออกไปอีก 60 วัน โดยในการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนครั้งนี้ มีประเด็นหลักที่น่าสนใจ ส่วนกลุ่มไหน รายใด จะสนใจยื่นข้อเสนอในครั้งใหม่นี้อีกบ้าง ยังคงมีลุ้นกันต่อไป


tp12-3438-a

แน่นอนว่า ประเด็นหลักจะต้องมีการปรับรายละเอียดทีโออาร์เกิดขึ้น เพราะในครั้งแรกนั้น เอกชนต่างส่ายหัวถึงความเขี้ยวของทีโออาร์สุดหิน จึงเสนอให้มีการปรับข้อมูลบางส่วนเพื่อจูงใจการลงทุน นอกเหนือจากขอขยายระยะเวลาการเตรียมเอกสารออกไปอีก 60 วัน ตามเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมรับฟังข้อเสนอแนะ เช่นเดียวกับการเสนอสัดส่วนการแบ่งรายได้ภาคเอกชนเพิ่ม 10-20% หรือ กรณีการการันตีความรับผิดชอบจากเดิมเทียบเท่ากันหมด เหลือเพียงตามสัดส่วนการลงทุน หากโครงการดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อโครงการในภายหลัง

ส่วนข้อเสนอทั้งหมดนั้น เอกชนกลุ่มใด รายไหน มีสิทธิ์คว้าประมูล วิเคราะห์กันลึก ๆ แล้ว ขณะนี้โอกาสมีสูงเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นขาใหญ่ในพื้นที่จะมีโอกาสมากกว่าในเรื่องของต้นทุนที่ตํ่ากว่า ยิ่งหากร่วมกับเอกชนที่มีทุนหนาจากต่างประเทศย่อมมีโอกาสสูงกว่าอีกหลายเท่า ซึ่งขาใหญ่ในพื้นที่มีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ทั้ง ฮัทซิสัน พอร์ท (ประเทศไทย), TIPS, เอเวอร์กรีน, เมอร์สไลน์, บางกอก โมเดอร์นเทอร์มินอล, JWD โลจิสติกส์, แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล และแอสโซซิเอท อินฟินิตี้

ส่วนท้ายที่สุดใคร?? จะคว้าชัยชนะ คงต้องดูการเจรจาผลประโยชน์จะลงตัวอย่างไร ใครจะร่วมทุนรายไหนบ้าง เพราะโครงการใหญ่ขนาดนี้ เอกชนรายเดียวคงไม่มีกำลังพอแน่ แต่ที่แน่ ๆ คงต้องแบ่งงานก่อสร้าง งานวางระบบ และบริหารจัดการให้แต่ละกลุ่มชิงเค้กก้อนโต 8.3 หมื่นล้านบาท กันดุเดือด จับตารับเหมากลุ่มอิตาเลียนไทย, กลุ่มยูนิค, กลุ่มญี่ปุ่น และกลุ่มไชน่าเรลเวย์คอนสตรัคชั่น ว่า ไทย-จีน ญี่ปุ่น ใครจะเข้าวินรับงานก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ก้อนโตในครั้งนี้ไปดำเนินการ

รายงาน | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,438 ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2562

595959859