ส่งออกทั้งปี 61 วืดเป้า 8% โตได้แค่ 6.7% หลังเดือน ธ.ค. ยอดติดลบ

21 ม.ค. 2562 | 05:27 น.
"ส่งออกไทย" เดือน ธ.ค. ส่งท้ายปี 2561 กลับมาติดลบที่ 1.7% 'พาณิชย์' ระบุ ผลพวงสงครามการค้า การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทำค้าโลกชะลอตัว ส่งผลวืดเป้าโต 8% ชี้! แนวโน้มปี 62 ยังน่าห่วง ต้องจับตาใกล้ชิด พร้อมลุ้นข้อพิพาทการค้าสหรัฐฯ-จีนคลี่คลาย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 2561 ว่า ขยายตัวลดลง หรือ ติดลบที่ 1.72% โดยมีการส่งออกมูลค่า 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การติดลบเป็นผลจากแนวโน้มการค้าชะลอตัวและการส่งออกในสินค้าสำคัญชะลอตัว สืบเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าและแนวโน้มการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ ตลาดอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2562


แนน

ทั้งนี้ ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมภาพรวมขยายตัวลดลง 6. 6% แต่ยังมีสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนการการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวลดลง 0.8% โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทองคำ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์

สรุปภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 252,486.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7% (จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะขยายตัวได้ที่ 8%) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 249,231.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.5% ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าในปี 2561 ที่ 3,254.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


102912

สำหรับภาพรวมการส่งออกในเดือน ธ.ค. มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 6.6 (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 39.0% (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย จีน และเมียนมา), ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวด้านราคาเป็นหลัก ขยายตัว 9.5% (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์), ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 4.5% (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัว 32.3% (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ บราซิล และเยอรมนี), ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ 22.8% (หดตัวในตลาดจีน และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวสูงในตลาดญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย), ข้าว หดตัวในด้านปริมาณ ขณะที่ด้านราคายังขยายตัว หดตัว 5.5% (หดตัวในตลาดเบนิน และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 4.1% (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอียิปต์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น ลิเบีย และแอฟริกาใต้), กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป หดตัว 13.2% (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ไต้หวัน และเวียดนาม แต่ขยายตัวในจีนในระดับสูง รวมทั้งขยายตัวดีในสหราชอาณาจักร) ภาพรวมของปี 2561 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 2.6%


IMG_6817

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่ากลับมาหดตัวที่ 0.8% (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 8.0% (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา อินโดนีเซีย และอินเดีย), เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ขยายตัว 23.0% (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง), ทองคำ ขยายตัว 20.9% (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เมียนมา และอินเดีย), ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 4.3% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย), เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 3.6% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ 16.9% (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย และญี่ปุ่น), อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว 40.4% (หดตัวในตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวในญี่ปุ่น จีน และอินเดีย), เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 19.0% (หดตัวในตลาดหดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ และฮ่องกง), ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หดตัว 25.8% (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาด ญี่ปุ่น เวียดนาม และซาอุดิอาระเบีย) ภาพรวมของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัว 6.6%


IMG_6803

ด้านตลาดส่งออกในปี 2561 ตลาดสหรัฐฯ ภาพรวมทั้งปีขยายตัวที่ 5.4%, ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 13.0%, ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัว 5.0%, ตลาดจีน ขยายตัว 2.3%, ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 13.4%, ตลาด CLMV ขยายตัว 16.6%, ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 11.9%, ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 3.1%, ตลาดตะวันออกกลาง ลดลง 5.0%, ตลาดทวีปออสเตรเลียขยายตัว 2.9%, ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 10.1%

"สรุปภาพรวมการส่งออกปี 2561 การส่งออกไทยขยายตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกก่อนชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตามภาวะการค้าในภูมิภาค จากปัจจัยความท้ายที่มีมากขึ้นจาก 1) ผลของสงครามการค้าที่ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในตลาดสหรัฐฯ และผลจากการที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน 2) ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ และ 3) ผลของฐานการส่งออกสูงในบางกลุ่มสินค้า"


แอดฐานฯ

ส่วนการส่งออกปี 2562 มีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้า รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานและสต๊อกตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวในระดับต่ำก่อนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี หากสงครามการค้ามีแนวโน้มคลี่คลาย โดยวันที่ 18 ม.ค. 2562 จีนประกาศยินยอมลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 6 ปี ระหว่างการเจรจาช่วงพักรบระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศของการค้าโลกดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกกลับมาได้ในช่วงสั้น ๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด

กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัวของการส่งออกศักยภาพอื่น ๆ เร่งหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกสู่เป้าหมายที่ 8% ปี 2562 อาทิ การขยายความร่วมมือทางการกับคู่ค้าศักยภาพ อาทิ เกาหลี และขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และ CLMV ในโอกาสการเป็นประธานอาเซียน การสร้างโอกาสการส่งออก โดยใช้กลยุทธ์ระดับพื้นที่ เจาะเมืองรองที่มีศักยภาพ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์

ติดตามฐาน