"อาหารญี่ปุ่น" ปักหมุด "พรีเมียม" หนีสงครามราคา!!

18 ม.ค. 2562 | 06:32 น.
ชี้! เทรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยแรงไม่หยุด จับตาเชนดังเดินหน้าขยายสาขาต่อ พร้อมพลิกโฉมสู่พรีเมียม หวังยกระดับ สร้างภาพลักษณ์ "โออิชิ กรุ๊ป" นำร่องทุ่ม 500 ล้านบาท สยายปีกรับสู่พรีเมียมแมส หวังลดการแข่งขันไพรซ์วอร์

หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลถึงแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ว่า จะมาถึงจุดอิ่มตัว หลังจากที่ตลาดเติบโตแบบถดถอยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2557-2558 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2559-2560 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ สวนทางกับในต่างจังหวัด ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ขณะที่ ตัวเลขล่าสุดจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุว่า จากผลสำรวจระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. - 31 ส.ค. 2561 พบว่า มีร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั่วประเทศ 3,004 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 8.3% และถือว่า มีจำนวนร้านเยอะที่สุดในรอบ 10 ปีของการสำรวจ โดยประเภทร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ "ร้านข้าวปั้นซูชิ" เพิ่มขึ้น 79.4% จากปีที่แล้ว, ร้านอาหารสไตล์ดงบุริ (ข้าวหน้าต่าง ๆ) 20% และร้านอาหารทอด 14.3% ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มอาหาร ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง


04_ชาบูชิ

แต่ทว่าตัวเลขที่น่าสนใจกลับไปอยู่ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นแบบแบรนด์เชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์เชนที่ปัจจุบันดำเนินกิจการ 2-5 สาขาในประเทศไทย มีจำนวนถึง 192 แบรนด์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 34 แบรนด์ ขณะที่ ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีสาขาเดียวในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 4% อยู่ที่ 934 ร้าน ส่งผลให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในแวดวงต่างเร่งปรับเกมสู้ศึกครั้งนี้

โดยเฉพาะ "โออิชิ กรุ๊ป" ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ที่นำร่องรับเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดย นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โออิชิหันมาให้ความสำคัญกับตลาดพรีเมียมมากขึ้น โดยให้ทุกแบรนด์ในเครือสร้างความเป็นพรีเมียมไมซ์มากขึ้น โดยเริ่มต้นทยอยทำตั้งแต่ปีก่อน และจะไม่ลงไปเล่นในร้านอาหารญี่ปุ่นตลาดล่างอย่างแน่นอน


mp32-3436-a

เนื่องจากมองว่า ลูกค้ามีความเข้าใจและมีประสบการณ์กับการรับประทานอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งโจทย์หลักของบริษัทนับจากนี้ คือ ทำอย่างไรให้แบรนด์แข็งแกร่งมากขึ้นในเรื่องของอินโนเวชันและโปรดักต์มากขึ้น ขณะที่ ในปีนี้บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่ม 19 แห่งในปีนี้ แบ่งเป็น ร้านชาบูชิประมาณ 10 แห่ง อีก 5 แห่ง เป็นอีทเทอเรียม และที่เหลือจะเป็นร้านอื่น ๆ โดยปัจจุบัน โออิชิมีสาขาทั้งหมด 252 แห่ง ซึ่งแบรนด์หัวหอกหลักจะยังคงเป็นแบรนด์ชาบูชิ ที่จะใช้ในการขยายสาขา


01_โออิชิ อีทเทอเรียม (1)

"ช่วงที่ผ่านมา เราได้มีการปรับภาพลักษณ์ "โออิชิ อีทเทอเรียม" สู่ความเป็นพรีเมียมแมสมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งถือว่าทำได้ดีและมีลูกค้าตอบรับกับราคาดังกล่าว โดยมองว่า ตรงนี้ยังมีตลาดอยู่และสามารถสร้างการเติบโตได้ ซึ่งแนวทางการทำตลาดนับจากนี้ คือ การสื่อสารแบรนด์ผ่านประสบการณ์ของลูกค้ามากขึ้น"

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเดินหน้าตามแผนงานขยายธุรกิจร้านอาหารในเครือสู่ความเป็นพรีเมียมแมส ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัว "ชาบูชิ" คอนเซ็ปต์ร้านใหม่ หรือที่เรียก ชาบูชิ 5.0 ซึ่งถือเป็นการพัฒนารูปแบบที่ 5 ของแบรนด์ชาบูชิ เพื่อให้ตอบรับกับเทรนด์ร้านอาหารในตลาดสู่รูปแบบพรีเมียมแมสผ่านเรื่องของคุณภาพมากขึ้น เป็นสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกันนี้ ยังได้มีการปรับโลโกแบรนด์ชาบูชิจากสีแดง-ดำ เป็นสีโรสโกลด์ เพื่อแสดงถึงความเป็นพรีเมียมมากขึ้น


03_ชาบูชิ

การแข่งขันอย่างหนัก โดยเฉพาะด้านราคาย่อมส่งผลกระทบต่อตลาด ทำให้ผู้ประกอบการแบรนด์เล็กเริ่มทยอยหายไป เหลือเพียงไม่กี่แบรนด์ เพราะการแข่งขันเรื่องราคาเป็นการกระตุ้นตลาดเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะท้ายที่สุด ลูกค้าก็จะหันไปหาความมีคุณค่า (Value) ของแบรนด์มากกว่าเรื่องราคา

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อบริการ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเติม เช่น ตู้สั่งอาหารจากหน้าร้าน หรือ การจ่ายเงินและสั่งอาหารได้ที่โต๊ะผ่านสมาร์ทโฟน (มือถือ) ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับ "ดีลิเวอรี" สอดคล้องกับเทรนด์ของคนยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วในเรื่องของอาหาร ก็เป็นอีกเทรนด์ที่น่าจับตามอง และเชื่อว่าจะส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,436 ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2562

595959859