"กล้าที่จะลงมือทำ" ... สร้าง MeZ ให้เป็นองค์กรเพื่อเกษตรกร

20 ม.ค. 2562 | 02:36 น.
จากจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นพนักงานคนหนึ่งของเอสซีจี ที่ได้รับโอกาสจากโครงการ Internal Startup ซึ่งเอสซีจีสร้างขึ้นบนแนวคิด Hatch >Walk>Fly ที่ช่วยให้เกิด Solution ที่ตอบโจทย์ทั้ง Operation และ Product และเป็นเวทีให้คนที่มีความสามารถได้แสดงออก พร้อมมีเงินทุนสนับสนุนจาก ADDVenture โดยหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่กำลังเดินหน้าไปได้ดี ก็คือ MeZ ใน Digital Transformation Team เอสซีจี ที่ก่อตั้งโดย "ภรณี บุศยพลากร" และเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน

2
"ภรณี" เล่าว่า เธอและเพื่อนจบวิศวะ และเคยเป็น "ทีมบิสิเนส ดีเวลลอปเม้นท์" ของ "เอสซีจี เคมิคัล" มาก่อน จนเมื่อเอสซีจีมีการตั้ง Internal Startup ให้พนักงานที่มีไอเดียอินโนเวทีฟ ทั้งดิจิตอลและอื่น ๆ เธอและเพื่อนจึงเข้าไปนำเสนอโปรเจ็กต์และได้โอกาสจากเอสซีจี โดยเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2560

การเป็น Internal Startup ของเอสซีจี "ภรณี" บอกว่า มีข้อดี เพราะได้รับการซัพพอร์ตตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อเข้าร่วมโครงการ ทางเอสซีจีได้ส่งให้ไปเรียนเรื่อง Design Thinking การทำ Lean Startup ฝึกการเป็นผู้ประกอบการ เพิ่มมุมมองการเป็นผู้ประกอบการ ศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหา ให้ไปคุยกับเกษตรกร สัมภาษณ์ผู้บริโภค ใช้เวลา 3 เดือน โปรเจ็กต์ที่เราคิดมีคนต้องการจริง ๆ หรือเปล่า จนในที่สุดก็คลอดออกมาเป็นแพลตฟอร์ม MeZ สเต็ปแรก เรียกว่าเป็น Hatch เป็นการบ่มเพาะ หาแนวทางแก้ปัญหา

MeZ เป็นมาร์เก็ตแพล็ตฟอร์มของสินค้าเกษตร เพราะมีเพื่อนในทีมไปคลุกคลีกับเกษตรกร ประกอบกับทุกคนในทีมชอบรับประทานผลไม้ เมื่อเข้าไปศึกษาจึงพบว่า เกษตรกรค่อนข้างมีปัญหาผัก-ผลไม้ที่นำไปขายมักถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง MeZ จึงมีเป้าหมายที่จะเข้ามาแก้ Pain Point ในจุดนี้ เริ่มต้นทุเรียน แล้วต่อยอดไปผลไม้อื่น ๆ ด้วยการสร้างพื้นที่ตลาดให้ผู้ขายกับผู้ซื้อพบกัน และซื้อขายกันได้โดยตรง คนซื้อก็ได้ของสดใหม่ คนขายก็ได้ราคาที่ดี ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Farm-to-Table Platform"




POM_5386

สเต็ปต่อมา คือ Walk เป็นการเริ่มเดิน เกษตรกรตอบรับกับแพลตฟอร์มนี้ดีมาก เพราะเกษตรกรต้องการความช่วยเหลืออยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่มีความรู้ด้านระบบออนไลน์ หรือ เรื่องดิจิตอล MeZ จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้ ช่วยเรื่องการหาตลาดขายตรง ช่วยเรื่องการกำหนดราคา รวมไปถึงการทำแพ็กเกจจิ้ง และระบบโลจิสติกส์ โดยกลุ่มเกษตรกรเริ่มต้นจากแถวจันทบุรี ซึ่งเอสซีจีมีโรงงานและมีกลุ่มซีเอสอาร์ที่ช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้อยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ขยายไปที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และที่อื่น ๆ ทำให้ขณะนี้มีผลไม้ที่เข้าร่วมกว่า 10 ประเภท

"ต่อไป คือ สเต็ป Fly เราต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน เพื่อ Pitch งานต่อ ถ้าผ่าน เราจะออกไปเป็นผู้ประกอบการแบบแยกยูนิต ตกลงสัดส่วนการถือหุ้น หรือ แยกบริษัทออกไปเลย ตรงนี้ยังตอบไม่ได้ เรากำลังคุยกับทีมงานอยู่"

"ภรณี" บอกว่า ทีมของเธอเป็นทีมแรกที่เข้าสเต็ป Walk ... มันดีมาก ไม่ใช่คนทั่วไปที่มีโอกาส ธุรกิจที่เราทำไม่เกี่ยวกับเอสซีจีเลย เราได้ทำเต็มตัว แตกต่างจากงานเดิมเยอะ งานคอร์ปอเรตเรามีฟังก์ชันการทำงานชัด มีทุกอย่างเป็นแพทเทิร์น แต่อันนี้เราต้องเรียนรู้และทำเองทุกอย่าง ทุกอย่างอยู่ที่เรา เรากำหนดไดเร็กชัน วิธีการทำงาน เซตมายด์เซตของทีม

เป้าหมายของ "ภรณี" คือ ต้องการให้ MeZ เป็นแพลตฟอร์มผลไม้คุณภาพที่ช่วยเหลือเกษตรกรจริง ๆ ซึ่งขณะนี้ MeZ สามารถทำรายได้แล้วกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน โดยพวกเธอมีเป้าที่จะสร้างรายได้ 100 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากนี้ โดยการขยายกลุ่มผลไม้ ผัก หรือ ผลไม้แปรรูป และขยายฐานลูกค้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร หรือ แหล่งรับซื้ออื่น ๆ ที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง


1

การก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ คือ การเปิดใจ ปรับมุมมองความคิด ปรับมายด์เซตของตัวเอง ใครที่อยากลุกขึ้นมาทำเหมือน MeZ ต้องมีไอเดีย และไม่ปิดกั้น ไม่มีใครโง่ ไม่มีถูก ไม่มีผิด เราต้องลองทำ กล้าที่จะลงมือทำ

"ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เป็นไร เราแค่หาทางแก้ให้เจอ และอย่าผิดพลาดซํ้าสอง ความท้าทายที่สุด คือ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ... มีท้อบ้าง เหมือนเราไปปีนเขา รู้ว่าพระอาทิตย์จะขึ้น แต่ระหว่างทางต้องเจอดินถล่ม ไม้ล้มขวางทาง แต่เราอยากไปถึงยอดให้ได้ ล้มแล้วก็ต้องลุก ทีมงาน เป็นส่วนสำคัญมาก คนไหนท้อ อีกคนจะช่วยตลอด"

ผู้ก่อตั้ง MeZ คนนี้ บอกว่า เธอยังมีจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาอีกมาก ต้องปรับตัวเองทุกวัน ทั้งระบบ ฟังก์ชันการใช้งาน และอื่น ๆ รวมทั้งการพูดคุยกับคู่ค้า มุมมองธุรกิจ การทำ UX UI ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก และปรับปรุงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมายที่ต้องการ

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,436 วันที่  17 - 19 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว