หมดยุคทองไอพีโอ! "ABM-CMC" ตํ่าจอง 50%

13 ม.ค. 2562 | 05:57 น.
หุ้นไอพีโอปี 2561 ราคารูดตํ่าจองถึง 13 บริษัท ขาดทุนมากสุดถึง 50% ในหุ้น ABM และ CMC ส่งผลต่อเนื่องถึง SAAM หุ้นไอพีโอตัวแรกปี 2562 ราคาตํ่าจอง 16% ตลท. ชี้! ถูกกระทบจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย มั่นใจ! ปีนี้จะดีขึ้น

มุมมองการลงทุนในหุ้นสามัญที่ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยในอดีตการที่นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้นไอพีโอใหม่ได้ถือเป็นโอกาสในการทำกำไรที่ดี ราคาหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดส่วนใหญ่จะราคาเพิ่มขึ้นเหนือจากราคาจอง หุ้นบางตัวราคาเคยขึ้นเหนือราคาจองได้ถึง 200% แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมา กลับไม่เป็นเหมือนก่อน ตลาดหุ้นถูกกดดันจากปัจจัยมากมายที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนและปรับลดลงกันถ้วนหน้า


MP17-3435-A

ในปี 2561 มีไอพีโอใหม่ทั้งหมด 17 บริษัท แบ่งเป็น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) จำนวน 7 บริษัท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) จำนวน 10 บริษัท ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา มีหุ้นไอพีโอจำนวน 13 บริษัท ราคาตํ่ากว่าราคาจอง โดยหุ้น ABM และ CMC ราคาตํ่าจองมากสุดถึง 50% นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ราคาตํ่าจอง 30-35% คือ KWM, CMAN, SONIC และ NER

มีเพียง 4 บริษัท ที่ราคายืนเหนือราคาจองได้ คือ DOD +39% และ CHAYO +28% ส่วนอีก 2 บริษัท ราคาอยู่ใกล้ ๆ ราคาจอง คือ BGC และ TPLAS

ในปี 2562 ที่คาดว่าตลาดหุ้นจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้จากสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีและมีความชัดเจนมากขึ้น แต่เมื่อประเดิมไอพีโอใหม่รายแรกของปี คือ บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SAAM) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ด้วยราคาไอพีโอ 1.80 บาท ทันทีที่เปิดการซื้อขายราคาลดลง 0.10 บาท หรือ 5.55% อยู่ที่ 1.70 บาท ระหว่างวันราคาสูงสุดอยู่ที่ 1.75 บาท ตํ่าสุดอยู่ที่ 1.51 บาท และปิดการซื้อขายที่ 1.52 บาท ลดลง 0.28 บาท หรือ 15.56%

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง จากนั้นได้เริ่มกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกของปี หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขการจ้างงานออกมาในทิศทางที่ดี แต่ตลาดหุ้นยังมีความผันผวน เพราะกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะทำให้กระทบต่อราคาหุ้นที่ซื้อขายวันแรก


MP18-3435-A

มองว่า หุ้นไอพีโอใหม่ในปีนี้จะดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากบริษัทหลายแห่งมีความสนใจและเตรียมความพร้อมที่จะเข้ามาจดทะเบียน นอกจากนี้ พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ยังคงแข็งแกร่ง จากผลประกอบการในช่วง 9 เดือน ปี 2561 มีอัตราการเติบโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ระบุว่า ความเฟื่องฟูของหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นไทยนั้นดำเนินมาต่อเนื่องหลายปี และน่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2560 ที่มีกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดเกือบ 40 แห่ง ซึ่งในวันแรกจะทำผลงานได้ดีเกินราคาจอง โดยหุ้นที่ดีมากทำกำไรให้กับนักลงทุนถึง 100-200% ส่วนใหญ่มีอัตราปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ไม่น้อยกว่า 20 เท่า หรือเกิน 30 เท่า โดยที่ไม่ได้มีคุณสมบัติที่โดดเด่นอะไรมาก ยกเว้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และบริษัทมีเรื่องราวที่น่าประทับใจ และผลการดำเนินงานปีล่าสุดโดดเด่น

ในปี 2561 ทุกอย่างเกี่ยวกับไอพีโอเริ่มเปลี่ยนไป หุ้นจองที่เข้าตลาดวันแรกเริ่มมีราคาปิดตํ่าจองมากขึ้น แม้ว่าตอนที่เปิดให้จองหุ้นก็ยังมีคนจองครบหรือล้น ซึ่งสาเหตุมาจากสภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย ดัชนีหุ้นตกตํ่าลง แม้ว่าจะไม่มาก แต่หุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มของไอพีโอนั้น ตกตํ่าอย่างหนัก ส่งผลให้คนขายหุ้นไอพีโอตั้งแต่วันแรก เพราะขาดความมั่นใจ

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,435 วันที่ 13-16 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว