นักวิชาการหนุน "ก.ม.ดิจิตอล" หวั่นถูก "ล้วงตับ" ข้อมูลส่วนตัว

10 ม.ค. 2562 | 09:36 น.
นักวิชาการชี้! พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติร่วมลงทุน ส่วนภาคประชาชนอย่าได้กังวล การมีกฎหมายรองรับทำให้คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว แนะภาครัฐต้องให้เวลาภาคเอกชนได้ปรับตัว เผย ระยะแรกอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ระยะยาวจะส่งผลดีเบื้องต้น

ในที่สุด กฎหมายดิจิตอลผ่านการพิจารณาวาระ 1 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวม 6 ฉบับ โดยการผลักดันของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวรัฐบาลต้องการผลักดันไปสู่ยุคดิจิตอลอย่างเข้มแข็ง

แม้ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ถูกคัดค้าน เนื่องจากให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป แต่สุดท้าย สนช. ได้ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 ภายหลัง พ.ร.บ. ผ่านการพิจารณา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ออกมาเปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ฉบับปรับปรุง โดยคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และผู้แทนภาคเอกชน และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ที่รัฐบาลเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านการพิจารณารับหลักการของ สนช. แล้ว เมื่อวันศุกร์ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น 1 คณะ พิจารณาร่างทั้ง 2 ฉบับ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน ให้เวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน หลังเสร็จสิ้นวาระสภาทั้ง 2 ฉบับ คณะกรรมาธิการประชุมนัดแรก และที่ประชุมมอบให้ นางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามความคิดเห็นจากนักวิชาการในเรื่องนี้ โดย นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการหลายภาคส่วน ขณะที่ บรรดาดีเวลอปเปอร์ หรือ บริษัทที่เกี่ยวข้อง มีเสียงสะท้อนออกไป และได้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. เพื่อสร้างสมดุลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับที่ออกจาก ครม. ก็ยังไม่ได้ถูกใจทุกฝ่าย ผู้ประกอบการและภาคเอกชนต้องมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในระยะยาวมากกว่า

"การมีกฎหมายมารองรับย่อมดีกว่า ส่วนข้อกังวล คือ ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.นี้ กระทรวงดีอีมีความตั้งใจที่จะบังคับใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลดี เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่จะมารองรับ แต่ พ.ร.บ.นี้ ในมาตรา 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า จะบังคับใช้ทันทีที่กฎหมายลงประกาศในราชกิจจาฯ"

ขณะที่ ภาคเอกชนมีทั้งรายที่พร้อมและไม่พร้อม เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภายใน ซึ่งฉบับที่ออกจาก ครม. ไม่มีตัวบทเฉพาะกาล 180 วัน เอกชนหลายแห่งจึงมีความกังวล โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่มีสาขาในประเทศไทย กระทรวงจะต้องสื่อสารหรือทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะอาจส่งผลให้เอกชนไม่กล้าลงทุน


TP10-3434-B

สำหรับภาคประชาชน อาจจะไม่ได้กระทบโดยตรง แต่ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ ผู้ที่ได้ข้อมูลเราไปจะเอาไปทำอะไรก็ได้โดยที่เราไม่รู้ ดังนั้น กฎหมายนี้น่าจะดีกับทุกคน ส่วนข้อที่หลายคนกังวลว่า กฎหมายไซเบอร์จะเอื้อให้ภาครัฐจะมาล้วงข้อมูลนั้น การที่จะนำข้อมูลไปใช้ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้น่าจะให้ประโยชน์กับประชาชนมากกว่า

ส่วนทางด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิตอลและสื่อใหม่ กล่าวว่า เรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ถือเป็นวาระนานาชาติ ภาพรวมทั้งหมดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมิติที่ดี แต่เกิดขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลทหาร เพราะฉะนั้น ประชาชนหรือภาคธุรกิจอาจจะยังกังวลใจอยู่ คือ การใช้อำนาจที่มีมากจนเกินไป ถึงแม้ว่าในเนื้อหาอาจจะมีการขออำนาจศาลที่ใช้ดุลพินิจจากหลายส่วนก็ตาม ส่วนที่ 2 หากผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปเแล้ว จะมีกรอบเวลาในการจัดตั้งคณะกรรมการภายใน 180 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้น ดังนั้น ภาครัฐเองในการออกกฎหมายฉบับนี้ ต้องมีกรอบเวลาและวิธีการที่สามารถทำได้ในหลักการของความเป็นจริง


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

ขณะที่ ผศ.อัครเดช วัชระภูพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ถ้าคุมเข้มเกินไป ต่างชาติจะไม่มา แต่หากไม่มีกฎหมายประเภทนี้เกิดขึ้น การก่อการร้าย การปลุกระดมมวลชนที่ไม่ดีต่อรัฐ จะรับมือได้ยาก และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งปัจจัยที่มุ่งเน้น คือ เรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงทางการทหาร ตรงนี้ค่อนข้างที่จะกว้างพอสมควร

"ผมค่อนข้างมองกลาง โดยไม่ได้ค้านหรือยอมรับแบบสุดโต่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มันต้องมี เพราะภัยไซเบอร์ในปัจจุบันมีความซับซ้อน ซึ่ง พ.ร.บ.ตัวนี้ พยายามที่จะทำให้เป็นเอกภาพ เพื่อความรวดเร็วและยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พ.ร.บ.นี้ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็อาจจะเป็นยาแรงเกินไป เอกชนต่างชาติอาจกลัวที่จะเข้ามาลงทุน"

สำหรับทางด้านภาคประชาชน ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของ พ.ร.บ.นี้ให้ดี เนื่องจากว่าเป็นดาบสองคม โดยอำนาจหน้าที่ค่อนข้างที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชนพอสมควร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่39ฉบับ 3434 ระหว่างวันที่ 10 - 12 มกราคม 2562

595959859