เดือดไม่เลิก!! วิปฯกมธ. นัด 10 ม.ค. ถกร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ....

06 ม.ค. 2562 | 03:56 น.
IMG_4725
แหล่งข่าวผู้ประกอบการประมง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 10 ม.ค. นี้ ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมพิจารณาร่างกฎหมายฯ ในวันที่ 10 ม.ค. 2562 เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับประทานอาหารสมาชิกรัฐสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องการให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมง จึงจำเป็นสมควรกำหนดหน้าที่เจ้าของเรือและการปฎิบัติหน้าที่ของแรงงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานในงานประมงที่มีความแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยทางทะเลและมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อันเป็นการส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการประกอบกิจการประมงของประเทศ ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประสง ค.ศ. 2007 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


IMG_4795

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ได้นัดรัฐบาลไทยจะไปลงนามอนุสัญญาฯ 188 ในวันที่ 30 ม.ค. 2562 ระหว่างนี้ได้มอบหมายให้ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน โดยให้ นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นเลขานุการ จัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อประชุมพิจารณาตอบข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ทั้ง 14 ข้อ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสมาคมประมงจาก 22 จังหวัด ให้ได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน


003_16

ใน 14 ข้อ ประกอบด้วย 1.การจ่ายเงินเดือนผ่านตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นปัญหาและสร้างภาระให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง และการแก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ 2.นิยามของเรือประมงเพื่อยังชีพยังไม่ชัดเจน เรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่ 3.การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบประกันสังคม 4.อัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และการเรียกเงินคืนจากกองทุนฯ กรณีลูกจ้างอยู่ไม่ครบปี 5.การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมง จะบังคับใช้กับเรือต่อใหม่ที่มีดาดฟ้าและมีขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไปเท่านั้น 6.แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ 7.ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม




IMG_4833

8.การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถฝึกงานในเรือประมงได้ 9.การกำหนดเงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 10.การนำเข้าแรงงานตาม MOU ใช้เวลานาน มีภาระค่าใช้จ่าย ขอให้ควบคุมปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีจากนายจ้าง 11.แรงงานตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยหากกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสายตาและการได้ยิน และขอให้จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย 12.การนับชั่วโมงพักและการกำหนดชั่วโมงพัก ให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมงแต่ละประเภท 13.ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ และ 14.การกำหนดอัตรากำลังในเรือ ควรกำหนดเป็นอัตรากำลังขั้นสูงสุดที่สามารถออกไปทำการประมงได้


49147245_773878329640521_2832752148297547776_n



นายวิชาญ เอกชัยศิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
เผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยได้ปักธงชัดเจนว่า จะต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานงานในภาคประมง (ILO C188) โดยได้ขอรับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่รัฐสภาในปัจจุบัน เพื่อรับรองการให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานงานในภาคประมง (ILO C188) ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ท่ามกลางความเห็นคัดค้านของชาวประมงไทยทั่วประเทศไปแล้ว


48414647_1934575316660418_2074372833491812352_n

"คำถามที่เกิดขึ้นในใจของผม คือ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะทำอะไรได้ ซึ่งก็มีคำตอบอยู่ 2 ทาง ซึ่งได้แก่ 1.สู้ต่อไปแบบหัวชนฝา และ 2.เจรจาหาทางออกให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงให้น้อยที่สุด ผมเลือกทั้ง 2 ทาง คือ เลือกทางที่ 2 ก่อน ถ้าไม่สำเร็จจะกลับมาเอาทางที่ 1 เพราะจะเป็นทางออกให้กับทั้งชาวประมงและรัฐบาล แบบที่ฝรั่งเรียกว่า "Win Win Situation" ซึ่งวันนี้ผมใช้ทางเลือกที่ 1 และถือได้ว่า ข้อเสนอของเราชาวประมงได้รับการยอมรับจากท่านรัฐมนตรีแรงงานและที่ประชุมเป็นอย่างดีเกินคาด"


สนช.-2

"พวกเราจะมีเวลาประมาณ 1 เดือน ในการทำงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจะต้องบัญญัติให้สอดรับกับอนุสัญญาให้เป็นที่ยอมรับของชาวประมงทั่วประเทศ โดยท่านรัฐมนตรีจะตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนชาวประมงจำนวน 7 คน เข้าเป็นคณะทำงาน ร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการหลัก รวม 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า กรมประมง และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะต้องเร่งดำเนินการหาข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งชาวประมงด้วย ก่อนการที่รัฐมนตรีจะไปยื่นสัตยาบันสารในปลายเดือนหน้า"


48422859_1944597465658203_6244613592021204992_n

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อนุสัญญาฯ ILO C188 จะเกี่ยวข้องกับสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน รวม 14 ประเด็น ซึ่ง 10 ประเด็น ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 แล้ว ยังคงเหลืออีก 4 ประเด็น ที่จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งผมได้เสนอให้ท่านรัฐมนตรีดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.นำกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานประมงและการคุ้มครองแรงงานมาเขียนรวมไว้ในฉบับเดียว โดยให้สอดรับกับอนุสัญญาฯ 2.บทบัญญัติใดที่เขียนในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลทั้ง 2 ฉบับ เกินกว่าที่อนุสัญญาฯ บัญญัติ ให้ยกเลิกและเขียนใหม่ให้สอดรับกับอนุสัญญาฯ 3.การบังคับใช้กฎหมายนี้ให้ใช้บังคับกับเรือทุกลำอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งในหลักการ ท่านรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วย โดยในส่วนนี้ชาวประมงจะได้รับความชอบธรรมคืนมาหลายประเด็น เช่น อายุขั้นต่ำของแรงงานประมง การจ่ายค่าจ้าง การติดต่อสื่อสารของเรือประมงนอกน่านน้ำ ฯลฯ


IMG_4700

4.ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ (ร่างมาตรา 13 และมาตรา 22) มีความชัดเจนแล้วว่า ในส่วนของที่พักและความอำนวยสะดวกสบายของลูกเรือ เช่น การรื้อโครงสร้าง การจัดห้องพัก การจัดห้องน้ำ ห้องสันทนาการ ฯลฯ เรือประมงไทยทุกลำและทุกขนาดที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ข้อกังวลที่มีอยู่ก็จะหมดไป คงมีเพียงเรือประมงที่จะต่อใหม่ทดแทนเรือเก่าในอนาคต ที่มีขนาดมากกว่า 300 ตันกรอส จะต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายใหม่ที่จะออกโดยกรมเจ้าท่า ซึ่งจะต้องหาข้อยุติภายใน 1 เดือน เช่นเดียวกัน โดยในประเด็นนี้ผมเสนอให้กรมเจ้าท่าออกแบบเรือประมงตามร่างแก้ไขข้อบังคับของกรมเจ้าท่าที่จะออกตามอนุสัญญาฯ ให้ชาวประมงเห็นว่า จะสามารถทำการประมงได้ และยอมรับได้สำหรับการต่อขึ้นใหม่เพื่อทดแทนในอนาคต หากเรือที่มีอยู่ในปัจจุบันเกิดการชำรุดเสียหาย (ถ้าเรื่องนี้จบผลกระทบจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานงานในภาคประมง (ILO C188) นี้ ก็จะกระทบต่อชาวประมงไทยน้อยที่สุด)


IMG_4695

5.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมประมงและสาธารณสุข ปัญหาน่าจะมีอยู่เพียงประเด็นของการตรวจสุขภาพของลูกเรือที่ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าน่าจะหาข้อยุติได้โดยไม่ยาก และ 6.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรือประมงต่างชาติที่อนุสัญญาฯ นี้ ให้อำนาจรัฐบาลไทยในการตรวจเรือกรณีที่เข้ามาเทียบท่าในประเทศไทย ขอให้รัฐบาลดำเนินการยกร่างข้อบังคับในการตรวจเรือและแรงงานตามอนุสัญญาฯ ทั้งในฐานะของรัฐเจ้าของธงและรัฐเจ้าของท่าให้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้เห็นว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการต่อเรือประมงสัญชาติอื่นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


IMG_4831

"ผมจึงหวังว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่บทสรุปในอีก 30 วันข้างหน้า ที่ได้รับการยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐ ชาวประมง ลูกเรือ และองค์การระหว่างประเทศ โดยเป็นแบบ "Win Win Situation" แม้ว่าในใจผมจะยังยืนยันว่า "ประเทศไทยไม่ควรยอมรับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (ILO C188)" ก็ตาม ท่ามกลางปัญหาวิกฤติมีเสียงนกเสียงกาพูดถึงเรื่องการเมือง ผมไม่สนใจครับ ใครจะได้ ใครจะเสีย ผมขออย่างเดียว อย่าให้ชาวประมงต้องเสียไปมากกว่านี้ เพราะเราเสียมามากแล้ว" นายวิชาญ กล่าวในตอนท้าย

 

[caption id="attachment_370103" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

คลิกเปิดร่างกฎหมายฉบับเต็มที่จะพิจารณาในวันที่ 10 ม.ค. 2562 (ร่างกฎหมายแรงงานประมง)

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว