กสิกรไทยประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า(2-4 ม.ค.62) ที่ 32.30-32.70 บ.ต่อดอลลาร์ฯ

30 ธ.ค. 2561 | 00:00 น.
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทประจำสัปดาห์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบแนว 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะชัตดาวน์หน่วยงานราชการของสหรัฐฯ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาปิดตลาด สิ้นปี 2561 ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงขายเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ แต่ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันศุกร์ก่อนหน้า  (21 ธ.ค.) ที่ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2561

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2561 ทั้งนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี โดยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้เงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา ท่ามกลางปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงติดลบทั้งหมดลงได้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับมาถูกกดดันจากสัญญาณชะลอจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความกังวลต่อภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

เงินบาทปิดตลาดสิ้นปี 2561 ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเพียง 0.1% จากระดับปิดตลาดปี 2560 ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-4 ม.ค. 2562) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศช่วงต้นสัปดาห์ น่าจะอยู่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนธ.ค. 2561 ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของประธานเฟด สถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐฯ และประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

[caption id="attachment_367778" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]