ผนึกแนวคิด SE ต่อยอดธุรกิจคิงส์กรุ๊ป

05 ม.ค. 2562 | 02:33 น.
หลายคนมักพูดว่า คนรุ่นใหม่ยุคดิจิตอล มีความคิดและใส่ใจกับการดูแลสังคมมากกว่าคนยุคเก่า ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่แต่ที่แน่ๆ "คุณคิว - ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล" เจนสองของ คิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ลูกชายของ คุณพ่อเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล ที่คว้าปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน จาก University of East Anglia ประเทศอังกฤษ กับหัวข้อวิทยานิพนธ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จนทำให้ซึมซับแนวคิดนี้มา จนสามรรถนำมาต่อยอดธุริกจของครอบครัว จนเกิดเป็น บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์สินค้า HERO โดยเขานั่งบริหารในตำแหร่ง กรรมการผู้จัดการ _W1_7908

“ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด เล่าว่า เริ่มต้นการทำงานกับครอบครัว ด้วยการปรับองค์กรสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ที่ยึดแนวปฏิบัติการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพนักงาน พร้อมๆ กับการสร้างยอดขายธุรกิจจนเติบโตได้ถึง 30%

เมื่อกิจการของครอบครัวเดินหน้าไปได้ดี “คุณคิว” เริ่มกลับมาคิดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ตั้งแต่ตอนทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้รับความท้าทายจากสื่อต่างชาติ ที่โจมตีหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ของเขา ขณะเดียวกัน การศึกษาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างหนัก ทำให้ได้ซึมซับ และรู้สึกอินกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากพอสมควร ประกอบกับการได้เห็นโมเดลธุรกิจ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในต่างประเทศ เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง ในลักษณะของ SE จนทำให้เขาลุยศึกษาอย่างเต็มที่อยู่ถึง 7-8 ปี จนได้เจอกับธุรกิจด้านรีไซเคิล ซึ่งสามารถต่อยอดให้กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกของครอบครัว คือ บริษัท คิงส์แพ็คฯ ที่ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปทั่วโลก

“คุณคิว” ลงทุนซื้อที่ดิน ตั้งโรงงานของตัวเอง ด้วยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่มาจากธุรกิจครอบครัว ประกอบกับการคิดแบบมีเหตุมีผล ธุรกิจที่สร้างขึ้นต้องเติบโตได้ เลี้ยงตัวเองได้ ต้องมีผลกำไรที่ดี (Maximize Profit) ในช่วงเริ่มต้นคือการลงทุนที่ต้องบริหารจัดการอย่างดี อะไรที่สามารถลดได้ คือ ลด เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในโรงงาน เขาเลือกหาเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่เอเชีย ไปจนถึงยุโรป ศึกษาอย่างละเอียด ทั้งประสิทธิภาพการทำงาน และราคา แล้วนำมาประยุกต์ประกอบใช้ ทำให้สามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ได้มาก แทนที่จะต้องจ่ายเพิ่ม 200-300 ล้านบาท

_W1_8048
“ทำธุรกิจนี้มาได้เกือบ 3 ปี ผลลัพธ์ทั้ง 2 ประเด็น คือ ผลประกอบการ เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ส่วนผลตอบรับของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกรายชื่นชมเรา เราก็ดีใจมีความสุข เราได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวธุรกิจของเราให้คนอื่นรับรู้ ตอนนี้ทุกอย่างเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราเริ่มไปถึงการกำจัดขยะ เอามาทำปุ๋ย เอาขยะมาทำพลังงาน และไม่น่าจะเกินปีหน้า โรงงานของเราจะเป็น Zero Waste ตอนนี้เราทำได้แล้วกว่า 80% และอนาคตเราจะรับ organic waste เข้ามาด้วย”
“คุณคิว” ยอมรับว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจรีไซเคิลขยะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาจากการติดต่อ และเลือกหาซัพพลายเออร์ที่จะนำส่งขยะให้กับโรงงาน วิธีการของผู้บริหารหนุ่มคนนี้คือ การเจาะเข้าหากลุ่มซัพพลายเออร์ที่มีความคิดเหมือนกัน มีความคิดอยากพัฒนา อยากแก้ไขปัญหาขยะที่มีปริมาณมาก จนทำให้เกิดมลพิษ หากทิ้งไว้เฉยๆ หรือกำจัดไม่ถูกวิธี การเลือกสรรซัพพลายเออร์ที่เปิดใจ มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของโลก ทำให้เขาสามารถเข้าไปดูแลได้อย่างเต็มที่ เพราะปริมาณขยะนั้นมีมากเพียงพอในการผลิตอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เพียงพอ คือ ปริมาณสินค้า ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
แต่หลายๆ คนอาจจะแปลกใจว่า สินค้าของ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียลฯ อาทิ ถุงขยะ แผ่นฟิล์มถนอมอาหาร ถุงช็อปปิ้ง ถุงซิปล็อก ฯลฯ กลับกลายเป็นสินค้าส่งออก 100% โดยจำหน่ายอยู่ในกว่า 30 ประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย แต่กลับไม่มีไทย ทั้งๆ ที่ “คุณคิว” บอกว่า เขาอยากขายในไทยมาก แต่คนไทยให้ความสำคัญเรื่องราคา และปริมาณการผลิตของบริษัท ก็ยังไม่เพียงพอ ปีหน้าเขาจึงเตรียมลงทุนขยายกำลังการผลิต พร้อมเตรียมเพิ่มไลน์สินค้าที่เป็นหลอดกระดาษ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้เรายังรับแค่พลาสติกอย่างเดียว แต่ปีหน้า เราจะเพิ่ม organic waste หรือขยะอินทรีย์ เช่น ขยะอาหาร ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยได้ โดยเรามีการลงทุนเครื่องจักรใหม่สำหรับขยะอินทรีย์เหล่านี้ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปี”

นักบริหารธุรกิจ SE คนนี้บอกอีกว่า เขามีแนวคิดที่จะพัฒนาขยะไปในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะ แต่ส่วนนี้ อาจจะยังไม่ได้เกิดในทันที เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง อาจจะต้องรออีก 3-4 ปี เพื่อระดมทุนในตลาด ซึ่งคาดว่าใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3-4 ปี

หน้า 18-19 ฉบับที่ 3,432 วันที่ 3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว