เมียนมาจะเติบโต 8.5% จริงไหม?

10 มี.ค. 2559 | 12:00 น.
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาปีนี้จะเติบโตถึง 8.5% จะเป็นจริงมากแค่ไหน ย้อนดูผลงานทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2558 คงจะพอบอกอะไรได้บ้าง

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ที่นานาชาติยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเรียบร้อย และนำมาสู่ชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี แล้ว ปี 2558 เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเมียนมาในด้านเศรษฐกิจ หลายประเทศทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา นิตยสาร Mizzima ของเมียนมาได้คัดเลือกพัฒนาการที่โดดเด่นด้านธุรกิจและการลงทุนในเมียนมาในปี 2558 สรุปได้ดังนี้

ด้านนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลเมียนมาได้กระตุ้นภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเดือนละประมาณ 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,100 บาท) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เมื่อเทียบแล้วต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 90-128 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,800 – 4,000 บาท)

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเมียนมาได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และพัฒนาเมืองใหญ่ ๆ ให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติเงินกู้กว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้เมียนมาใช้บริหารจัดการน้ำปรับปรุงสภาพแวดล้อมและพัฒนาระบบสาธารณสุขของมัณฑะเลย์ เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางตอนเหนือของประเทศ

อู่ต่อเรือ (Myanmar Shipyards) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมเมียนมาได้ประกาศว่าจะสร้างกองเรือเชิงพาณิชย์จำนวน 30 ลำ เป็นมูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2560 เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการขนส่งทางทะเลของประเทศ

ด้านตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้ว่าเมียนมาจะเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ความเนื้อหอมของสาวงามแห่งอาเซียนทำให้นักลงทุนหุ้นทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ตลาดหลักทรัพย์ในย่างกุ้งหรือ Yangon Stock Exchange (YSX) เปิดตัวไปเมื่อธันวาคม 2558 และมีกำหนดจะเริ่มซื้อขายได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมนี้

ด้านการค้าชายแดน จากข้อมูลของด่านศุลกากรเมียนมา การค้าชายแดนไทยและเมียนมาที่แม่สอด-เมียวดี ในปี 2557-2558 มีมูลค่ากว่า 56.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ 12.30% ในปี 2558 ไทยลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 6 คิดเป็น 6.85% ของการลงทุนต่างชาติ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงาน การผลิต ประมงและปศุสัตว์ โรงแรมและการท่องเที่ยว คมนาคมและการสื่อสาร สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา เนื่องจากมีคุณภาพเหมาะสมกับราคาเมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศอื่นๆ

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ บริษัท Telenor ของนอร์เวย์ และบริษัท Ooredoo ของกาตาร์ได้ขยายการให้บริการด้านเครือข่ายโทรคมนาคมในเมียนมา สร้างการจ้างงานให้ชาวเมียนมากว่า 90,000 คน รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่า 8% ต่อปี โดยปัจจุบัน หัวเมืองสำคัญทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ มีเครือข่าย 3G ใช้เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ บริษัท Wydham Hotel Group ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงทุนพัฒนาโรงแรม 5 ดาว ซึ่งรวมเอาห้องพักโรงแรม อพาร์ตเมนต์ออฟฟิศ และห้างสรรพสินค้า ไว้อย่างครบครันข้างทะเลสาบกันดอว์จี ที่ทุกคนที่ไปย่างกุ้งต้องต้องแวะไป ขณะที่ในภาคการเงินธนาคาร Tokyo-Mitsubishi UFJ ของญี่ปุ่นและธนาคาร UOB ของสิงคโปร์ ได้เปิดสาขาในย่างกุ้ง โดยเน้นการสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับไทยนั้น มีธนาคารกรุงเทพฯไปตั้งสาขาในย่างกุ้งเช่นกัน

ฟังพัฒนาการในปี 2558 แล้ว เมียนมาในปีนี้น่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องไปสู่ตัวเลขที่ IMF คาดการณ์ไว้ได้ไม่ยาก ส่งท้ายด้วยตัวเลขที่ระบุว่า จำนวนผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางและมีฐานะร่ำรวยในเมียนมาจะเพิ่มจาก 5.3 ล้านคนในปี 2555 เป็น 10.3 ล้านคนภายในปี 2563 ตลาดเมียนมายังมีพื้นที่อีกมากให้นักแสวงหาโอกาสจากไทยไปขยายธุรกิจ บนข้อได้เปรียบของพรมแดนที่อยู่ติดกันและความสัมพันธ์อันดีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในเมียนมาที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ http://www.ThaiBizMyanmar.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559