ฟินเทคฟิลิปปินส์บุกไทย เลนด์โดผุดบริการ‘เครดิตสกอริ่ง-e-KYC’กลุ่มแบงก์

28 ธ.ค. 2561 | 08:35 น.
“เลนด์โด” ฟินเทคฟิลิปปินส์ เดินหน้าบุกไทย เปิดให้บริการเครดิตสกอริ่ง -พิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่ม “แบงก์-ประกัน-สินเชื่อ” ตั้งเป้าหมายหนุนกลุ่มฟรีแลนซ์ เด็กจบใหม่ เกษตรกร ที่ไม่มีข้อมูลเครดิตบูโร เข้าถึงสินเชื่อ 2-3 ล้านคน

นายจาริตร์ สิทธุ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนความสำเร็จพันธมิตร ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัทเลนด์โด สตาร์ตอัพให้บริการฟินเทคจากประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปี 2562 จะเร่งขยายการให้บริการด้านฟินเทคในประเทศไทย ในลักษณะการให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Service) โดยบริการหลัก ประกอบด้วย 1.บริการการประเมินเครดิต หรือเครดิตสกอริ่ง สำหรับคนที่ไม่มีข้อมูลในเครดิตบูโร โดยจะประเมินจากข้อมูลที่เป็นดิจิตอล ทั้งข้อมูลพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ และข้อมูลการใช้งานโซเชียลมีเดีย และ 2. บริการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) โดยใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการวิเคราะห์จิตวิทยา ความถูกต้องข้อมูลชื่อที่อยู่

[caption id="attachment_366058" align="aligncenter" width="340"] จาริตร์ สิทธุ จาริตร์ สิทธุ[/caption]

โดยที่ผ่านมาได้เริ่มให้บริการกับธนาคารขนาดใหญ่ไปแล้ว 2-3 แห่ง และอยู่ระหว่างการนำเสนอกับธนาคารในไทยอีกหลายแห่ง โดยกลุ่มธนาคารต้องการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการเงิน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจประกัน ที่นำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์โอกาสลูกค้าซื้อประกัน โอกาสที่ลูกค้าเคลมประกัน และผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่นำไปวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามเนื่องจากธุรกิจของบริษัทเป็นบริการด้านซอฟต์แวร์ จึงไม่ได้ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอาไว้ ซึ่งธุรกิจจะมีรายได้จากความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร

“การให้บริการต่างๆ ในประเทศไทยในบริษัทได้ขออนุญาต จากธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และเป็นบริการที่เป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล”

โดยในปี 2562 ตั้งเป้าการเติบโตธุรกิจไว้ 100% และตั้งเป้าหมายให้คนไทยที่ไม่มีข้อมูลในเครดิตบูโร เข้าถึงสินเชื่อ 2-3 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายในระดับโลกนั้น คาดว่าจะมีข้อมูลของบุคคล ต่างๆ เข้ามาในระบบ 1 พันล้านคน

นายจาริตร์ กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทเริ่มขยายการให้บริการในภูมิภาค ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา รวมถึงตลาดไทยที่มีการเติบโตรวดเร็วในภูมิภาค โดยหลายประเทศในภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่ไม่มีข้อมูลในเครดิตบูโร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารยังไม่สามารถเข้าถึงในยุค Gig Economy อาทิ กลุ่มเด็กจบใหม่ หรือ กลุ่มฟรีแลนซ์ รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้ข้อมูลทางด้านการเงินที่บริษัทในบริการอยู่นั้นอาจไม่แม่นยำเท่าข้อมูลการเงินในเครดิตบูโร แต่เชื่อว่าเมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้น และเทคโนโลยี AI จะมีการเรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล จะทำให้ระบบมีความฉลาด และแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ให้บริการสินเชื่อในฟิลิปปินส์ พบว่ามีอัตราหนี้สูญตํ่ามาก

ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัทยังมีแผนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้กับ บริการการประเมินเครดิต หรือเครดิตสกอริ่ง และบริการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับบริการ นอกจากนี้ยังมีบริการ ใหม่ๆ จากเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ขณะนี้

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,430 ระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม 2561

595959859