เตือนปีหน้าตลาดหมีดุ ยํ่าแย่กว่านี้ยังมีอีก

28 ธ.ค. 2561 | 09:12 น.
ความปั่นป่วนในตลาดวอลล์สตรีต ทำให้ราคาหุ้นตกลงทั่วโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งหลุดเข้าไปอยู่ในเขต “ตลาดหมี” ซึ่งหมายถึงการที่ดัชนีตลาดหุ้นลดลง 20% หรือมากกว่านั้นเมื่อเทียบกับระดับสูงสุดที่ทำได้ล่าสุด แนวโน้มดังกล่าวทำให้สถานการณ์ดูจะยํ่าแย่ลงในช่วงปีใหม่ จากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯและความวิตกที่เพิ่มขึ้นว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะชะลอการเติบโต นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า สถานการณ์ที่ยํ่าแย่หรือเลวร้ายที่สุดนั้นยังมาไม่ถึง แต่คงจะได้เห็นกันในปี 2562

“เราเพิ่งอยู่ในช่วงกลางๆของตลาดหมีซึ่งเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก และปีหน้าจะยิ่งยํ่าแย่มากกว่านี้” มาร์ค จอลลีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหลักทรัพย์ ซีซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล ซีเคียวริตี้ส์ฯ กล่าวและให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า บางบริษัทจะมีปัญหาในการชำระหนี้กระทั่งถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้และถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นด้วย “สมมติฐานเหตุการณ์ที่เราคาดไว้จะมุ่งไปที่ตลาดสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลกระทบไปยังตลาดหุ้น และสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลต่อหุ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมที่โตเร็ว อย่างเช่น อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี”

[caption id="attachment_365989" align="aligncenter" width="503"] สตีเว่น มนูชิน สตีเว่น มนูชิน[/caption]

นอกจากนี้ นักลงทุนยังไม่มีเหตุปัจจัยเพียงพอที่จะรู้สึกมั่นใจหรือมองตลาดในเชิงบวก เนื่องจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เพิ่มความเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น ดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้น ทำให้กระแสเงินที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดมีลดน้อยลง ประกอบกับการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นในตลาด แม้จะมีการเจรจาสงบศึกชั่วคราว ไม่มีการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 90 วัน(ถึงต้นเดือนมีนาคมปีหน้า) แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงสงบศึกดังกล่าวไปแล้ว ก็ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงมาเนื่องจากมองเห็นว่า การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และประเทศอื่นๆเริ่มส่งผลฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้แผ่วกำลังลงมา ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อตลาดหุ้นภายในไม่กี่เดือน ข้างหน้าจนกว่าจะมีความกระจ่างชัดมากกว่านี้ว่า หลังกำหนด 90 วันผ่านไป ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะคลี่คลายไปในทิศทางใด

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง ได้เรียกประชุมเพื่อหารือกับผู้บริหาร 6 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้แก่ เจพี มอร์แกน เชส, แบงก์ออฟอเมริกา, โกลด์แมนซากส์, มอร์แกนสแตนลีย์, เวลส์ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป เกี่ยวกับแนวทางสร้างความมั่นใจให้กับบรรดานักลงทุนหลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯต้องเผชิญสัปดาห์แห่งความผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำให้ดัชนีเอสแอนด์พี 500 หล่นวูบ 7% จนเกือบเข้าสู่ภาวะตลาดหมี ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับลด 6.8% หรือ 1655 จุด นับเป็นสัปดาห์ที่ดัชนีร่วงตํ่าสุดในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551) และดัชนีแนสแดค คอมโพสิท หล่นลงจากช่วงสูงสุด(ที่ทำไว้เมื่อเดือนสิงหาคม) ถึง 22% เข้าไปอยู่ในแดนตลาดหมีเรียบร้อยแล้ว โดยเหตุปัจจัยหลักมาจากมติปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ของปีนี้ ที่อัตรา 0.25% สู่ระดับ 2.25-2.50% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง หรืออาจจะไม่ปรับขึ้นเลยในปีหน้า ทั้งยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ (2561) สู่ระดับ 3.0% จากเดิมที่ 3.1% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปีหน้า (2562)สู่ระดับ 2.3% จากเดิมที่ 2.5% อีกด้วย ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยที่มีทิศทางย้อนแย้งกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นายมนูชินได้ให้ความมั่นใจกับนายธนาคารที่ถูกเรียกเข้าหารือว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังแข็งแกร่งและบรรดาธนาคารก็ยืนยันว่ามีสภาพคล่องสูงพร้อมที่จะปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ที่สำคัญคือ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯออกมาสยบข่าวลือที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ปลื้มและมีแผนจะสั่งปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เกี่ยวกับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าว ทั้งดัชนีดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ตลอดทั้งปี 2561 นี้ เข้ามาอยู่ในแดนลบแล้วคือดัชนีตกลงแล้วอย่างน้อย 9% นับตั้งแต่ต้นปีมา

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,430 ระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม 2561

595959859