กกต. จับสลาก "413 ผู้ตรวจฯ" คุมเลือกตั้ง ส.ส.

25 ธ.ค. 2561 | 06:13 น.
กกต. จับสลาก 413 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตแล้ว เผย หากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. เริ่มงานทันที

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกันจับสลากแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ถูกขึ้นบัญชีไว้จำนวน 603 คน มีผู้ลาออก 3 คน ถูกคณะกรรมการคัดชื่อออก 10 คน และไม่พร้อมในการปฎิบัติหน้าที่ 7 คน ทำให้เหลือรายชื่อที่จะถูกจับสลากในครั้งนี้ 583 คน โดย กกต. จะจับสลากผู้ทำหน้าที่เพียง 413 คน


กกต.จับสลาก2

ในการจับสลากถูกแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 7-9 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดนั้น 2 คน ส่วนที่เหลือมาจากในจังหวัดอื่นที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน

ส่วนจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้งในจังหวัด 5-8 คน โดยถ้าในจังหวัดมีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-10 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 7 คน และจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งมากกว่า 12 เขตขึ้นไป มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 8 คน ซึ่งหลังจับสลาก รายชื่อทั้งหมดจะถูกเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป


กกต.จับสลาก3

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การจับสลากผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อที่จะไปทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 413 คน ไปปฎิบัติหน้าที่ในกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะทำการตรวจการทำงานของกรรมการประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด ตรวจเรื่องของการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งทุจริต

อย่างการเลือก ส.ว. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ได้เบาะแสว่า มีผู้สมัครบางคนเสนอทรัพย์สินให้กับผู้สมัครด้วยกันเอง เพื่อให้ตัวเองได้รับการคัดเลือก และได้มีการเข้าไปพูดคุย หาข้อมูล จนสมารถเสนอเรื่องให้ กกต. ระงับสิทธิ์ของผู้สมัครที่กระทำความผิด การปฎิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส.ส. จะเริ่มเมื่อมี พ.ร.ฏ.เลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้ตรวจการเลือกตั้งบางรายลาออกย้อนหลังจากที่ทำงานเดิมจะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ เลขาฯ กกต. กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้เข้ามา ถ้ามีจะตรวจสอบและดูข้อกฎหมาย แต่โดยปกติการลาออกจะมีผลเมื่อเจ้าตัวได้ยื่นหนังสือลาออก ซึ่งบางแห่งยื่นไว้แต่ต้นสังกัดยังไม่มีการประกาศ

แอดฐานฯ