ประมูลปิโตรฯ อุ้ม 'มูบาดาลา' ทุบรายได้หด

21 ธ.ค. 2561 | 09:13 น.
211261-1608

ประมูลปิโตรเลียมส่อเค้าวุ่น! หลังเห็นสัญญาณรัฐเปิดทางกลุ่มมูบาดาลาถือหุ้นแหล่งเอราวัณ 40% ชี้! ผิดเงื่อนไขทีโออาร์ที่ให้รัฐเข้าถือหุ้น 25% กระทบรายได้หายปีละเกือบ 5 พันล้าน เอื้อต่างชาติหอบเงินออกนอกประเทศ

ในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณและบงกช โดยกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชนะได้สิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ไปทั้ง 2 แหล่ง โดยแหล่งเอราวัณเป็นการร่วมทุนของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในสัดส่วน 60% ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย)ฯ ในเครือบริษัทมูบาดาลา จากสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในสัดส่วน 40% และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแหล่งบงกช 100%


app-Arthit_01-696x380

แต่การประมูลครั้งนี้ กลับสร้างความสงสัยให้กับสาธารณชน กรณีเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ที่ว่า กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 25% ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25%

โดย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันหลังการประกาศผู้ชนะการประมูล ว่า บริษัทในเครือของ ปตท.สผ. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว บริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ แหล่งเอราวัณในสัดส่วน 60% และแหล่งบงกชในสัดส่วน 100% ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้ง 2 แปลง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุดนั้น

 

[caption id="attachment_364502" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

แหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากพิจารณาตามเงื่อนไขทีโออาร์ที่ระบุ ภาครัฐจะต้องเข้าร่วมทุนกับผู้ชนะการประมูลในสัดส่วน 25% หากตีความว่า ปตท.สผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ และต้องเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนดังกล่าว โดยจะมีผลต่อโครงสร้างการถือหุ้นในแหล่งเอราวัณต้องเปลี่ยนแปลงไป โดย ปตท.สผ. จะต้องได้หุ้นในส่วนของภาครัฐขึ้นไป รวมอยู่ที่ 70% และไปลดสัดส่วนหุ้นของ บริษัท เอ็มพี จี2 ลงมาอยู่ที่ 30% ถึงจะเป็นไปตามที่ทีโออาร์ที่กำหนด

ทั้งนี้ หากกระทรวงพลังงานยังยืนยันที่จะให้ "เอ็มพี จี2" ถือหุ้นในแหล่งเอราวัณที่ 40% จึงเท่ากับว่า รัฐจะเสียผลประโยชน์จากรายได้และกำไรตามสัดส่วนที่ถือหุ้น และเป็นการดำเนินงานที่ผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ด้วย เพราะหากฝ่ายเชฟรอนเป็นผู้ชนะการประมูล กระทรวงพลังงานก็จะต้องส่ง ปตท.สผ. เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% ตามทีโออาร์ที่กำหนด ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งเอราวัณเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยที่เชฟรอนฯ จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 74% จะลดลงเหลือ 55.5% และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด จากเดิม 26% จะลดลงเหลือ 19.5%


62

ดังนั้น หากภาครัฐไม่นำโควตาตามสัดส่วนของภาครัฐเข้าไปถือหุ้น ก็จะทำให้ภาครัฐเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น การขาดรายได้ หรือ กำไรตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น 25% และจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มมูบาดาลามีรายได้หรือกำไร นำเงินออกนอกประเทศมากขึ้น แทนที่รายได้จะตกอยู่กับประเทศเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งการที่รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเงินที่จะนำมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าไม่ให้ปรับสูงขึ้นได้ เพราะหากคำนวณจากการผลิตก๊าซขั้นต่ำในแหล่งเอราวัณที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ณ ราคาขายปัจจุบันที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู แหล่งนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 132 ล้านบาทต่อวัน หรือราว 4 พันล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาทต่อปี หากภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 25% โดยไปลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มมูบาดาลาได้เหลือ 30% หรือลดลงมา 10% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกราว 4.9 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งหากจะให้ประเทศได้ประโยชน์จริง กระทรวงพลังงานจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ให้รอบคอบ ก่อนที่จะลงนามสัญญากันในช่วงเดือน ก.พ. 2562

"ในทีโออาร์ได้กำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุน 25% ถือเป็นการเตรียมการตั้งแต่แรกที่จะให้ ปตท.สผ. เข้าร่วมลงทุน เพื่อเป็นการกันพลาดหากแพ้ประมูล จากที่ก่อนหน้านั้น ปตท.สผ. เจรจากับเชฟรอนฯ เพื่อขอเพิ่มสัดส่วนหุ้นในแหล่งเอราวัณจากที่ถืออยู่ราว 5% แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น เมื่อทีโออาร์เปิดโอกาสให้รัฐเข้าถือหุ้นได้ และกลุ่มมูบาดาลาก็รับทราบในเงื่อนไขนี้ตั้งแต่แรกที่จะต้องถูกลดทอนสัดส่วนหุ้นของตัวเองลงมา จึงเป็นข้อสงสัยว่า เมื่อรัฐมีเงื่อนไขตรงจุดนี้แล้ว ทำไมไม่ไปร่วมลงทุนเพื่อให้ได้สัดส่วนหุ้นของรัฐเพิ่มขึ้น"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20 - 22 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โยน ครม. ชี้ขาดประมูลปิโตรฯ!!
ผุด 150 หลุมก๊าซแสนล้าน! เอาจริงประมูลปิโตรฯอ่าวไทย-ดิ้นหลบค่ารื้อถอนหมื่นล้าน


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62