แนะ 'แรงงาน' รีสกิล! รับ 5G สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยสู่อุตฯ 4.0

23 ธ.ค. 2561 | 07:19 น.
'เศรษฐพงค์' ชี้! 5G จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ระบุ เทคโนโลยี AI 5G พาประเทศสู่ความมั่งคั่ง ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แนะแรงงานไทยต้องรีสกิลเพื่อสร้างโอกาสในอาชีพ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีโอเปอเรเตอร์หลักอยู่ 3 ราย โดยการดำเนินการของรัฐทั้งหมด ซึ่งทำให้จีนสามารถโรลล์เอาต์ 5G ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประมูล ทำให้จีนมีอำนาจในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น ประเทศเยอรมนีได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า ในอนาคตคนกว่า 5,000 ล้านคน จะใช้สมาร์ทโฟน อุตสาหกรรมรถยนต์จะยุติการผลิตรถที่ใช้นํ้ามันภายในปี 2030 ทำให้รถที่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มีราคาถูกลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถที่ใช้นํ้ามัน กอปรกับระบบ 5G หรือ 4G ที่ทำให้รถสามารถมองเห็นกันแบบเรียลไทม์และแม่นยำ ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ภายในปี 2025 ผ่านระบบ 5G ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นสำคัญของการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างประเทศ โลกในอนาคตประเทศที่เป็นมหาอำนาจ คือ ประเทศที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำของ AI กับ 5G โดยประเทศจีนได้ประกาศยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำ AI อันดับ 1 ของโลก ภายในปี 2030 ให้ได้

 

[caption id="attachment_364187" align="aligncenter" width="503"] พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ[/caption]

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ไม่เกินปี 2025 โทรทัศน์ทั้งหมดจะอยู่ในรูปของอินเตอร์เน็ต ฃและสตรีมมิง เทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะไม่เหมือนกับ 4G 3G 2G ที่ผ่านมา 5G ไม่ได้ขับเคลื่อนให้มีเดียเร็วขึ้น แต่ 5G จะสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยง ติดต่อ หรือ พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เร่งให้ความสำคัญกับการจัดสรรคลื่นความถี่ระบบ 5G เนื่องจากกำลังเพลี่ยงพลํ้าประเทศจีนที่ก้าวสู่ 5G อย่างรวดเร็ว ทำให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นในจีนเร็วกว่าอเมริกา แม้แต่ประเทศเกาหลีก็มีการประมูลคลื่นความถี่ไปเรียบร้อยแล้วในระบบ 5G  เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำการโรลล์เอาต์และเริ่มระบบ 5G แบบ Commercial อย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ เพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในปีหน้า สื่อในรูปแบบดั้งเดิมต้องถอยออกและรีสกิลคน เพื่อที่จะกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมเดิม แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มี
ความฉลาดมากขึ้น หากเกิดการรีสกิลของแรงงานคนจะก็เป็นโอกาส แต่ถ้าไม่สามารถรีสกิลคนเหล่านั้นได้ ประเทศก็จะเสื่อมถอยในอุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อไปในอนาคตประเทศที่มีมูลค่าและมีขีดความสามารถที่จะก้าวไปสู่ระบบ 5G พร้อมทั้ง AI ก็จะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งและมีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศอื่น

 

[caption id="attachment_364190" align="aligncenter" width="503"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ก่อนปี 2553 การใช้งานโซเชียลมีเดียนั้น ส่วนใหญ่ผ่านคอมพิวเตอร์ PC ไม่ได้มีการใช้ผ่านโมบาย เพราะยังไม่มี 3G เกิดขึ้น จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีอยู่ 6.1 ล้านบัญชี ทวิตเตอร์ 7 หมื่นบัญชี และยูทูบ 1.2 แสนบัญชี มาในปี 2561 ผู้ใช้งานมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ได้ใช้ผ่าน PC แต่ใช้ผ่านระบบของโมบายมากขึ้น จะเห็นว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 49 ล้านบัญชี ผู้ใช้งาน Line 44 ล้านบัญชี ทวิตเตอร์ 13.6 ล้านบัญชี อินสตาแกรม 12 ล้านบัญชี ยูทูบ 40 ล้านราย ใช้งานเฉลี่ย 2.4 ชั่วโมงต่อวัน และ Netflix ที่มีสมาชิกในประเทศไทย 2.1 แสนคน จะเห็นว่า ปี 2553-2561 มีความเปลี่ยนแปลงที่สูงมากต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ ทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหากมี 5G เกิดขึ้น ภาคการผลิตจะมีการใช้ AI IoT เข้ามาทดแทนแรงงานคน ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตจะต้องถูกลงและมูลค่าการผลิตจะต้องเพิ่มขึ้น ห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าไปที่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่จะไปที่แพลตฟอร์มและสินค้าจะไปสู่ลูกค้า โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง รวมไปถึงเรื่องของการใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ สิ่งที่ประเทศในสหภาพยุโรปกังวล เมื่อมี 5G เกิดขึ้น คือ แรงงานจะต้องตกงานมากขึ้น เราจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงสร้างทางด้านการเมืองเมื่อมี 5G เกิดขึ้น การลงคะแนนไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งยังภูมิลำเนา ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ลงคะแนนทั่วประเทศ การหาเสียงในรูปแบบใหม่ที่ติดต่อกับประชาชนได้โดยตรงผ่านทางเฟซบุ๊กผ่านไลฟ์ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านหัวคะแนน หรือ คนกลาง นักการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสิ่งที่คิดในอดีต เพราะตอนนี้ไทยเป็นยุคดิจิตอล นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดอยู่ คือ โครงสร้างทางด้านสังคม ที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าเราไม่มีเทเลเฮลท์เกิดขึ้นจะทำให้สาธารณสุขสำหรับการดูแลรักษาผู้สูงอายุมีปัญหาอย่างแน่นอน โครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อ 5G เกิดขึ้น จึงต้องใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ให้ได้" นายฐากร กล่าว

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,428 ระหว่างวันที่ 23-26 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว