'วินด์' อัดหมื่นล้าน! ลุยลงทุน ขยายพลังงานลมทั้งในและ ตปท. ตั้งเป้าโต 2 พันเมกะวัตต์

30 ธ.ค. 2561 | 16:31 น.
"วินด์ เอนเนอร์ยี่" ประกาศสู้ศึกประมูลพลังงานทดแทน ตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้งในและต่างประเทศ 2 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีแล้ว 8 โครงการ อยู่ที่ 720 เมกะวัตต์ พร้อมทุ่มเงินลงทุนปี 2562 กว่า 1 หมื่นล้านบาท ลุยขยายธุรกิจวินด์-โซลาร์ฟาร์ม เผย ศึกษาไว้แล้ว 3-4 ประเทศ



WEH-21
นายณพ ณรงค์เดช ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จากปัจจุบันรายได้ทั้งหมดยังคงมาจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) โดยบริษัทตั้งเป้า 5 ปี (2561-2565) ขยายกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 2 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ตามเป้าหมายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพีฉบับใหม่ ที่กำหนดไว้ 1,485 เมกะวัตต์ ในปี 2580 จากปัจจุบันมีโครงการวินด์ฟาร์มแล้ว 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 720 เมกะวัตต์

สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2562 บริษัทศึกษาไว้หลายโครงการ แต่ต้องดูความชัดเจนนโยบายของภาครัฐที่จะประกาศออกมาก่อน แต่เบื้องต้นเตรียมเงินลงทุนปี 2562 ไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ พลังงานลม โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเทคโนโลยีก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ข้อจำกัดของโซลาร์ฟาร์ม คือ พื้นที่ เพราะกำลังการผลิตที่ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่ 10 ไร่ เทียบกับลม ใช้พื้นที่ 1-2 ไร่ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ ดังนั้น ในปี 2562 จะเห็นการลงทุนของบริษัทในรูปแบบไฮบริด ไม่ใช่เพียงพลังงานลมเท่านั้น ขณะที่ ต้นุทนการลงทุนพลังงานลม ปัจจุบันอยู่ที่ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ต้นทุนไม่ได้ลดลงมากนัก แต่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 15% แต่ปัจจุบัน 30-40% ขณะที่ โซลาร์ฟาร์มต้นทุนลดลงเหลือ 25-30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาขยายการลงทุนธุรกิจวินด์ฟาร์มและโซลาร์ฟาร์มในต่างประเทศ ปัจจุบัน ทีมงานศึกษาไว้ 3-4 ประเทศ ทั้งในเอเชียและนอกเอเชีย แต่การลงทุนโครงการดังกล่าวจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านค่าไฟ ปัจจุบันให้ทีมงานเข้าไปศึกษารายละเอียดต่าง ๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

"ตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ บริษัทสนใจลงทุนทั้งลมและโซลาร์ เพราะมองว่าเป็นโอกาส ซึ่งต้องรอความชัดเจนนโยบายภาครัฐที่จะประกาศออกมาก่อน แม้ว่าลมจะอยู่ที่ 1.4 พันเมกะวัตต์ ในปี 2580 แต่ผลิตจริงอาจไม่ถึง ส่วนโซลาร์ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาพบว่า กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจำนวนมากเช่นกัน แต่ด้วยแผนพีดีพีที่เลื่อนมานาน ทำให้ภาคลงทุนชะลอตัว และหากมองในด้านอุปสรรคการลงทุน ก็ยังมีกฎหมายนโยบายที่อาจยังไม่สอดรับกับการส่งเสริมการลงทุน หรือ นโยบายที่ตามไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ประเทศออสเตรเลียเริ่มขายไฟฟ้าตรงได้ เทียบกับไทยที่ต้องการให้ กฟผ. เท่านั้น"

นายณพ กล่าวต่อว่า ขณะที่รายได้ปี 2562 บริษัทตั้งเป้าว่าจะอยู่ที่ 9 พันล้านบาท เนื่องจาก 8 โครงการ จะ COD เต็มปีทั้งหมด และการขยายโครงการใหม่เพิ่ม เทียบกับปี 2561 รายได้อยู่ที่ 4 พันล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสัดส่วนไฟฟ้าที่มาจากพลังงานลมอยู่ที่ 40% และหวังว่า ในปี 2562 จะได้เห็นบริษัทเข้าไปลงทุนในธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระบบกักเก็บพลังงาน ที่ตอนนี้ราคายังสูงมาก แต่คาดว่าในอนาคตต้นทุนจะเริ่มลดลง

อย่างไรก็ตาม แผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม คือ ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งมองว่า ภายหลังเข้าซื้อขายในตลาดฯ ภาพรวมการดำเนินงานคงไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก เนื่องจากบริษัทมีโครงการที่จะแล้วเสร็จ และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีคดีฟ้องร้องต่าง ๆ มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยมีที่ปรึกษากฎหมายดูในส่วนนี้อยู่

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20-22 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว