กระทรวงทรัพย์ฯ-เอ็นจีโอ’จูบปาก ดันร่าง กฏหมายบริหารจัดการน้ำเข้าครม.

11 มี.ค. 2559 | 04:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กฎหมายบริหารจัดการน้ำของประเทศ เป็นอีกเรื่องที่ยื้อยุดกันมานาน ระหว่างภาคประชาสังคมกับหน่วยงานราชการที่ต่างมุ่งหวังผลักดันร่างของตนเองให้ถึงฝั่งฝัน แต่วันนี้กลับเงียบหายเพราะขัดแข้งขัดขากันเอง ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรน้ำ ชงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลักการเมื่อ 30 กันยายน 2558 ก่อนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเตรียมบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วนแบบเงียบๆ แต่มีรายงานออกมาว่า ร่างฉบับดังกล่าวนั้น ค้างอยู่ในขั้นของ วิป สนช. ที่ให้สมาชิกไปพิจารณาเพิ่มเติมอย่างไม่มีกำหนด

ขณะที่ร่างของภาคประชาสังคม ซึ่งผนวกระหว่างร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำของภาคประชาชน กับร่าง พ.ร.บ.น้ำของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ตกผลึกออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำฉบับของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด นั่งเป็นประธาน จะส่งถึง ครม.ไปเมื่อต้นเดือนกันยายน 2558
ต่อมา ครม. มีมติเห็นชอบพร้อมมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.น้ำ ของ สปช. ภายใน 30 วัน แต่เงียบหาย

ตามด้วยกระแสวิพากวิจารณ์จากภาคประชาสังคม ตั้งข้อสังเกตถึงการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า กำลังจะซ้ำรอยเหมือนกรณีของร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ไม่ประกาศบังคับใช้เสียที ดังเช่น กฎหมายองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม

ต่อเรื่องนี้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ระบุยืนยันว่า ภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐ เห็นตรงกันว่า ต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อร่วมกันบูรณาการกฎหมายบริหารจัดการน้ำของทั้ง สปช. และของกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้ได้ โดยสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว

"เราเห็นตรงว่า หากต่างยึดจะเอาร่างของตนเองเป็นหลักคงไม่มีวันที่จะได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา บรรยากาศการประชุมในแต่ละครั้งเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ กรมทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการกฤษฎีกา ภาคประชาสังคม และตัวแทนจากกลุ่มน้ำ ประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้ง ภายใต้หลักการร่วมกันที่ว่า ถอยคนละก้าว มองสถานการณ์ปัจจุบัน คาดการณ์ถึงอนาคต นายหาญณรงค์ ระบุ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอร่างบริหารจัดการน้ำฉบับนี้เข้าสู่การประชุมครม.เพื่อขอความเห็นชอบได้ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย 117 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดให้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามพระราชบัญญัตินี้

ขณะที่องค์ประกอบของโครงสร้าง กนช.นั้น ยังคงกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มี รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง มีปลัดและอธิบดีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้แทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำจำนวน 6 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 2 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านผังเมือง กำหนดให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการของกรมทรัพยากรน้ำอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

วันนี้เกษตรกรรอลุ้นให้ร่างกฎหมายน้ำฉบับบูรณาการผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เสียที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559