ลูกจ้างเฮ! สนช. ผ่านกฎหมายเพิ่มสิทธิทำงานเกิน 20 ปี ได้ชดเชย 400 วัน

14 ธ.ค. 2561 | 10:33 น.
สนช. มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมาย เพิ่มการคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างเกี่ยวกับวันลา ค่าชดเชย และอัตราค่าจ้างที่เท่าเทียมเป็นมาตรฐาน

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 13 ธ.ค. 2561 มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งสมาชิก สนช. ซักถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตามเนื้อหาของร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิลูกจ้างเพิ่มในการลาคลอดบุตรและลาตรวจครรภ์ไม่เกิน 98 วัน ที่นับรวมวันหยุดระหว่างวันลา จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั้งฉบับ เพื่อให้มีการประกาศใช้เป็นกฎมาย ด้วยเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย


parlia

สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีการเพิ่มบทบัญญัติหลายประการให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเอื้อต่อการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง อาทิ เพิ่มอัตราชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป โดยให้ได้ค่าชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน เพิ่มขั้นจากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชยสูงสุดไม่น้อยกว่า 300 วัน ขณะเดียวกันลูกจ้างที่มีอายุงานไม่ถึง 20 ปี ได้อัตราชดเชยการเลิกจ้างในอัตราเดิม คือ ลูกจ้างอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน ลูกจ้างอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 90 วัน ลูกจ้างอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน ลูกจ้างมีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน

นอกจากนี้ ยังขยายการคุ้มครองกรณีการเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วัน กำหนดให้ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ โดยถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรจำนวน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วัน จากกองทุนประกันสังคม โดยในส่วนของ 8 วัน ที่ได้ลาเพิ่ม นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันเพื่อจ่ายค่าจ้างหรือไม่ก็ได้

กรณีย้ายสถานที่ทำการต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และต้องมีความชัดเจนเมื่อจะย้ายสถานที่ประกอบการไปสถานที่ใหม่ และการแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงที่มีค่าเท่าเทียม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. 2562

595959859